WORLDWIDE

โตโยต้า ประกาศยุติกิจการและปิดโรงงานผลิตรถในออสเตรเลีย
POSTED ON 12/02/2557


ข่าวต่างประเทศ - ก่อนการแถลงยุติกิจการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10 ก.พ.2557) บริษัท โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายสุดท้ายที่ยังเปิดโรงงานในออสเตรเลีย ภายหลังผู้ผลิตหลายยี่ห้อยุบโรงงานหรือประกาศแผนปิดกิจการมาก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าว "แมกซ์ ยาสุดะ" ประธานโตโยต้าออสเตรเลีย กล่าวว่า บริษัทจะยุติการผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ภายในสิ้นปี 2560 "อันที่จริง นี่คือวันที่เศร้าโศกที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโตโยต้า"

 

การปิดโรงงานที่นี่อาจทำให้แรงงาน 3,900 คนในโรงงานอัลโตนา ชานนครเมลเบิร์น และอีก 150 คนที่ศูนย์ออกแบบต้องตกงาน ผลของการตัดสินใจของโตโยต้ายังจะเป็นการปิดฉากภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยืนยาวมา 66 ปีของออสเตรเลียด้วย โดยคาดว่ายังจะกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ราว 50,000 คนในภาคส่วนต่างๆ โดย "บิล ชอร์ตเทน" ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวถึงข่าวนี้ว่า เป็น "มรณกรรมของอุตสาหกรรมรถยนต์ออสเตรเลีย"

 

ประธานโตโยต้าออสเตรเลีย อ้างเหตุผลที่โตโยต้าต้องปิดโรงงานในออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มเปิดมาตั้งแต่ปี 2506 ว่าเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน ตั้งแต่เงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า, ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น, ความตกลงการค้าเสรีในอนาคตและตลาดรถยนต์ที่แข่งขันกันมากขึ้น

 

อนาคตของโตโยต้าในออสเตรเลียเริ่มปรากฏเค้าลางความไม่แน่นอน ภายหลังบริษัท เจเนอรัลมอเตอร์ส ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาว่า โรงงานของจีเอ็มที่โฮลเดนซึ่งจ้างแรงงานราว 3,900 คน จะยุติการผลิตภายในปี 2560 หลังจากดำเนินกิจการที่นี่มานานกว่า 6 ทศวรรษ ขณะที่เมื่อห้าปีที่แล้ว "มิตซูบิชิ" ก็เพิ่งปิดโรงงานที่แอดีเลด ส่วนฟอร์ดซึ่งจ้างงาน 1,200 ตำแหน่ง จะยุติการผลิตภายในปี 2559 หลังจากธุรกิจที่นี่ไม่สร้างกำไรเช่นกัน

 

ด้านสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ออสเตรเลีย ได้ออกมากล่าวว่า การปิดกิจการของโตโยต้าที่นี่อาจก่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับภูมิภาคในประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะดิ้นรนเปลี่ยนจากการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่มานานนับสิบปี

 

ขณะที่ทางด้าน นายกรัฐมนตรี แอ็บบอต ของออสเตรเลีย ได้พูดคุยโดยตรงกับยาสุดะ เพื่ออ้อนวอนให้โตโยต้าผลิตรถยนต์ที่นี่ต่อไปภายหลังโรงงานโฮลเดนถูกปิด เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของออสเตรเลียต้องล่มสลาย

 

"ผลกระทบใหญ่หลวงของการตัดสินใจครั้งนี้ต่อภาครถยนต์นั้นไม่อาจดูเบาได้ เรากำลังมองถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้" เดฟ สมิธ เลขาธิการสหภาพแรงงานฯ กล่าว