WORLDWIDE

อินโดฯ แบนส่งออกสินแร่ "ฟิลิปปินส์" รับอานิสงส์ต่อ
POSTED ON 20/01/2557


ข่าวต่างประเทศ - กระแสต้านการสั่งห้ามส่งออกแร่ดิบของอินโดนีเซียขยายวงกว้างมากขึ้น หลังจากที่ นายซูซิโล บัมบัง ยุโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ลงนามรับรองคำสั่งห้ามส่งออกสินแร่ธรรมชาติ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งฝ่ายค้านและภาคธุรกิจที่หวั่นวิตกว่ารายได้ของอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งฉบับนี้

 

เดิมทีรัฐบาลเสนอห้ามส่งออกแร่ดิบที่ยังไม่ผ่านการถลุงทั้งหมด แต่ได้แก้ไขเป็นห้ามส่งออกเฉพาะสินแร่เท่านั้น และอนุญาตให้ส่งออกหัวแร่ได้เป็นเวลา 3 ปี ส่วนโลหะมีค่าบางอย่างจะห้ามส่งออกตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 12 มกราคม 2557

 

เอเอฟพี รายงานประกาศจากกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ธาตุว่า คำสั่งห้ามส่งออกมีผลเพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเป็นการสร้างงานพร้อมกันกับเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยก่อนหน้านี้ บริษัทเหมืองแร่ท้องถิ่นและต่างชาติพากันคัดค้านคำสั่งห้ามส่งออกแร่ก่อนแปรรูป เพราะมองว่าเป็นนโยบายชาตินิยม ซึ่งอาจนำไปสู่การสั่งปิดเหมืองแร่จำนวนมาก

 

รวมถึงการประกาศเลิกจ้างลูกจ้างอีกจำนวนมาก คำสั่งที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ยังกำหนดให้บริษัทเหมืองแร่ต้องสร้างโรงถลุงแร่ภายในปี 2560 ซึ่ง นายเอ็ม เอส ฮิดายัต รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเผยว่า ในระหว่างนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีส่งออกแร่ธาตุเพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งบริษัทเหมืองแร่มีโรงถลุงแร่แล้ว และไม่จำเป็นต้องส่งออกสินแร่อีก เนื่องจากทั้งบริษัทเหมืองแร่และรัฐบาลต่างมีสาธารณูปโภคไม่พร้อม ทั้งพลังงานที่ยังขาดแคลนอยู่ในบางพื้นที่ที่เหมืองส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเกาะที่มีความทุรกันดาร แน่นอนว่าหากมีการสร้างโรงถลุงแร่ รัฐบาลจะต้องลงทุนและให้ความสำคัญในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งการขนส่งและด้านพลังงาน

 

ผลวิจัยจากสำนักงานพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ เตือนว่า หากรัฐบาลอินโดนีเซียผลักดันแผนการนี้ จะทำให้การจ้างงานในระบบลดลง และอาจนำไปสู่การสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจต่อปี มูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ฯ รวมถึงสะท้อนภาพชัดเจนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการถลุงแร่ มากกว่าการลงทุนในด้านที่ขาดแคลน อย่างการศึกษาสาธารณสุข และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็น

 

ผลกระทบจากคำสั่งของอินโดนีเซียในการห้ามการส่งออกสินแร่นั้น จะทำให้อุปทานนิกเกิลทั่วโลกลดลง ขณะที่ราคานิกเกิลดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วน 18-20% ของอุปทานนิกเกิลทั่วโลก

 

อุตสาหกรรมเหมืองแร่อินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพี สำหรับการส่งออกแร่สู่ตลาดโลกของอินโดนีเซีย มีทั้งแร่นิกเกิล อลูมิเนียม และทองแดง ซึ่งแร่ดังกล่าวจะมีการห้ามส่งออกในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

 

สำหรับแนวโน้มจากมุมมองของ นางวิลาสินี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวไว้ว่า ในเบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะมาลงทุนในอินโดนีเซียในการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่เพื่อการส่งออก แต่หากปรับการจากการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นการผลิตเพื่อแปรรูปก่อนส่งออก หรือขายในประเทศก็อาจจะแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ก็หมายความว่า นักลงทุนจะต้องใช้ทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ทั้งการสำรวจ ขุด และตั้งโรงถลุงแร่

 

นอกจากนี้ นางวิลาสินี ยังมองถึงผลกระทบต่อผู้ที่ซื้อแร่ธาตุเป็นวัตถุดิบจากอินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น หากยากขึ้น และมีแนวโน้มที่ผู้ซื้อจะหันไปหาแร่ธาตุจากแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ อาทิ ออสเตรเลีย ลาว หรือฟิลิปปินส์มากขึ้น

 

ฟิลิปปินส์รออานิสงส์จากการสั่งห้ามส่งออกแร่ของอินโดนีเซีย เพราะเป็นประเทศที่มีการส่งออกและผลิตแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลก ส่งผลให้ประโยชน์ที่จะได้จากการส่งออกตกมาอยู่ที่ฟิลิปปินส์ และคาดว่าอาจขายแร่นิกเกิลได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางด้าน บลูมเบิร์ก รายงานว่า การสั่งห้ามส่งแร่ออกของอินโดนีเซียจะทำให้เพิ่มมูลค่าในตัวของแร่ให้กับฟิลิปปินส์ รวมไปถึงจะมีการส่งออกมากขึ้น

 

นายเอมมานูเอล แซมซัน หัวหน้าฝ่ายการเงินของบริษัทนิเกลเอเชีย ที่ระบุว่า ความเคลื่อนไหวจากอินโดนีเซียจะกลายเป็นผลดีในการเร่งขายแร่ของฟิลิปปินส์ให้เพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับตลาดการซื้อขายแร่นิกเกิลล่วงหน้า ราคาได้ขยับขึ้น 2.4% เป็น 14,190 ดอลลาร์ฯ ต่อตัน และมีการคาดว่าภายในปีนี้หากซัพพลายในตลาดโลกลดลง ราคาแร่นิกเกิลจะขึ้นสูงมาอยู่ที่ราวๆ 15,500 ดอลลาร์ฯ ต่อตัน

 

แต่อินโดนีเซียกลับมองว่าฟิลิปปินส์จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการห้ามส่งออกแร่ของอินโดนีเซีย โดย นายนิโก กานเตอร์ ประธานบริษัท พีทีวาเล อินโดนีเซีย บริษัทผู้ผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ที่ระบุว่า แร่นิกเกิลของฟิลิปปินส์มีเกรดต่ำกว่าแร่นิกเกิลจากอินโดนีเซีย ซึ่งนิกเกิลจากฟิลิปปินส์จะไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้

 

ต่างมุมมองจากฝ่ายฟิลิปปินส์ ที่นายแซมซันมองว่าตลาดนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศจีน และมองว่าการสั่งห้ามส่งออกจะทำให้จีนนำนิกเกิลที่สต๊อกไว้ออกมาใช้ก่อนประมาณ 6 เดือนถึงจะหมด และหลังจากนั้นผู้ซื้อจากจีนจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อซื้อแร่นิกเกิลจากฟิลิปปินส์ที่มีเกรดต่ำกว่า

 

ทั้งนี้ ในอนาคตมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายคนว่า หากอินโดนีเซียสูญรายได้จากการค้า ประกอบกับปัญหาด้านค่าเงินที่อ่อนตัวอย่างรุนแรง ซึ่งเร็วที่สุดมีทีท่าว่าจะเห็นภาพได้ในปีหน้านี้ อาจจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนคำสั่งการห้ามส่งออกแร่ดิบ