WORLDWIDE

สปป.ลาว เร่งสร้างเขื่อนอีกนับสิบ จากที่มีอยู่แล้ว 23 เขื่อน
POSTED ON 13/01/2557


ข่าวต่างประเทศ - เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่กล่าวมาทั้งหมดมีขนาดตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป ยังไม่นับรวมเขื่อนขนาดเล็กอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ แต่ผลิตใช้ในชุมชนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ สื่อของทางการอ้างรายงานประจำปี 2556 ของกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่เกี่ยวกับความก้าวหน้าในแขนงผลิตพลังงานภายใต้นโยบายเป็น แบตเตอรี่แห่งอนุภูมิภาคผลิตจำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน

      

หากนับจำนวนเพียงอย่างเดียว เขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาวเริ่มใกล้เคียงกับจำนวน 28 แห่งในประเทศไทยที่พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำต่อเนื่องไม่เคยขาดช่วงในหลายทศวรรษมานี้และปัจจุบัน ไทยกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของลาว โดยเซ็นซื้อกระแสไฟฟ้าไปแล้ว 7,000 เมกะวัตต์

      

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตไม่นานลาวจะแซงหน้าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ไปไกลลิบเมื่อเขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และยังมีโครงการเขื่อนอีกราว 20 แห่ง ที่อยู่ในขั้นสำรวจศึกษาความเป็นไปได้หรือศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมตามแผนการก่อสร้างเจื่อนกว่า 80 โครงการภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้

      

เขื่อนที่กำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นของเอกชนที่ได้รับสัมปทาน จำนวน 13 แห่ง ที่เหลือเป็นของรัฐบาลโดยรัฐวิสาหากิจการไฟฟ้าลาว

      

ในปีที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีระบบสายส่งไฟฟ้าเป็นความยาว 43,860 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้างในปีนี้อีกกว่า 4,300 กม. ปัจจุบันประชาชนทั่วประเทศใน 143 เมือง (อำเภอ) 6,797 หมู่บ้าน รวม 926,341 ครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ หรือคิดเป็น 85.84% ของทั้งหมด

      

เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้ยังรวมทั้งเขื่อนน้ำเงียบ 2 ขนาด 180 เมกะวัตต์ คืบหน้าไปประมาณ 48.18% กำหนดเปิดใช้ในปี 2559 เช่นเดียวกับเขื่อนเซกะหมาน 1 ขนาด 322 เมกะวัตต์ ที่คืบหน้าไปแล้ว 16.20% และเขื่อนใหญ่ไซยะบูลีขนาด 1,680 เมกะวัตต์ คืบไป 10.77% จะเริ่มปั่นไฟในปี 2562

       

เขื่อนที่มีกำหนดจะเดินเครื่องปั่นไปเข้าสู่ระบบในปี 2557 นี้ ยังรวมทั้งเขื่อนเซน้ำน้อย 1 ขนาด 14.8 เมกะวัตต์ ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว 99% เขื่อนน้ำเงียบ 3A ขนาด 44 เมกะวัตต์ เสร็จ 80%

      

ยังมีอีก 3 เขื่อนที่มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2558 คือ เขื่อนน้ำอู 2, 5 และ 6 ในภาคเหนือ ที่มีขนาดติดตั้ง 120, 240 และ 180 เมกะวัตต์ตามลำดับ กับเขื่อนน้ำกง 2 ขนาด 66 เมกะวัตต์ในแขวงอัตตะปือ

      

นอกเหนือจากเขื่อนแล้ว การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินหงสาลิกไนต์ ขนาด 1,878 เมกะวัตต์ ในแขวงไซยะบูลี ก็มีความคืบหน้าไปกว่า 60% และมีกำหนดเริ่มปั่นไฟเข้าระบบเพื่อส่งออกในปี 2558 นี้เช่นกัน

      

ในประเทศนี้ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์อีกจำนวนมาก และขยายตัวต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ติดตั้งให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้จำนวน 14,613 ครัวเรือน การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ชีวมวล และเอทานอลก็เป็นรูปเป็นร่าง ที่เมืองพูวง ในแขวงอัตตะปือ มีกำลังผลิต 30 เมกะวัตต์

      

ในนครเวียงจนทน์ กำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงขนาด 5 เมกะวัตต์ โดยบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทาน นอกจากนั้น ในลาวยังมีโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชที่ให้น้ำมันเช่นปาล์มน้ำมัน กับสบู่ดำอีกจำนวนมาก สื่อของทางการกล่าว