WORLDWIDE

11 ประเทศ CPTPP ตั้งเป้าขยายสมาชิกเพิ่ม หวังต่อสู้การกีดกันการค้า
POSTED ON 19/01/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics, Economic

11 ประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เปิดเผยว่า ทางกลุ่มมีความมุ่งมั่นที่จะขยายประเทศสมาชิกเพื่อจัดตั้งกลุ่มให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสการปกป้องทางการค้าที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก

 

สมาชิกปัจจุบันของ CPTPP หรือข้อตกลง TPP เดิม ได้จัดการประชุมขึ้นที่กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกของทางกลุ่มนับตั้งแต่ที่ข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่มีสหรัฐ

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ทางกลุ่มจะเปิดกว้างสำหรับทุกเศรษฐกิจที่สามารถปฏิบัติตามกฎกติกาการค้าที่มีมาตรฐานสูงได้

 

"เราหวังว่าจะได้เห็นหลายประเทศและภูมิภาคเข้าร่วมกลุ่มมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งนั่นรวมถึงสหรัฐอเมริกา" โทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่ดูแลรับผิดชอบข้อตกลงการค้า กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับตัวแทนจากอีก 10 ประเทศสมาชิก

 

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า "ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการกีดกันการค้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐมนตรีจึงมีความเห็นร่วมกันว่า เป็นเรื่องสำคัญสูงสุดที่จะต้องคงไว้และส่งเสริมซึ่งหลักการของระบบการค้าที่ยึดกฎกติกา เปิดกว้าง และทั่วถึง"

 

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในการประชุมครั้งแรกนี้ ประเทศสมาชิกปัจจุบันได้หารือกันถึงขั้นตอนในการต้อนรับสมาชิกใหม่ เนื่องจากประเทศต่างๆ เช่น ไทย และ สหราชอาณาจักร แสดงความตั้งใจที่จะเข้าร่วม

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า แนวโน้มที่จะขยาย CPTPP นั้นไม่แน่นอน หลังจากที่รัฐสภาอังกฤษมีมติไม่รับร่างข้อตกลง Brexit ของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ขณะที่ไทยอยู่ระหว่างเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไป

 

ข้อตกลง CPTPP ซึ่งครอบคลุมเศรษฐกิจโลกประมาณ 13% มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุน และยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

 

ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการให้สัตยาบันในประเทศของตนแล้ว และเป็น 6 ประเทศแรกที่ได้ลงนามข้อตกลงเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP เดิม

ขณะที่ข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับเวียดนามในเดือนที่แล้ว ส่วนบรูไน ชิลี มาเลเซีย และเปรู ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการให้สัตยาบันภายในประเทศ