WORLDWIDE

เศรษฐกิจโลก 2014 ฟื้นถ้วนหน้า หลายสถาบันฟันธงโตอย่างต่ำ 3%
POSTED ON 02/01/2557


ข่าวต่างประเทศ - รายงาน “สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2014” ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ออกมาช่วงกลางเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.0% และ 3.3% ในปี 2015 เทียบกับปี 2013 ที่อัตราเติบโตถูกคาดหมายไว้ที่ 2.1% โดยรายงานแจงว่า แม้ช่วงครึ่งหลังของปี 2013 ที่ผ่านมา การเติบโตอาจวูบลงไปบ้าง แต่พัฒนาการบางอย่างในไตรมาสสุดท้ายบ่งชี้แนวโน้มแง่บวก เช่น ยูโรโซนหลุดพ้นจากภาวะถดถอย และเศรษฐกิจอเมริกาค่อนข้างเข้มแข็งขึ้น ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียสลัดแนวโน้มขาลงกว่า 2 ปีเต็มได้สำเร็จ

      

อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นเตือนว่า เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ผลพวงจากการชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ประกาศออกมาแล้วว่า จะมีการลดการซื้อพันธบัตรเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์เหลือเพียง 75,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดจนความเปราะบางของระบบการธนาคารและเศรษฐกิจภาคแท้จริงในยูโรโซน และการประลองกำลังทางการเมืองเรื่องเพดานหนี้ของอเมริกาในช่วงต้น-กลางปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

      

ทางด้าน "คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด" ที่สำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคอเมริกันเป็นประจำทุกเดือน ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มการเติบโตปี 2014 ซึ่งระบุว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตเลห์แมนและภาวะถดถอยครั้งใหญ่มาครบ 5 ปีเต็ม เศรษฐกิจโลกในปีใหม่นี้จะมีอัตราเติบโต 3.1% จากเพียง 2.8% ในปี 2013

 

โดย บาร์ต แวน อาร์ก รองประธานบริหารและประธานนักเศรษฐศาสตร์ของคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด บอกว่า เศรษฐกิจปีที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าคาดเนื่องจากภาวะถดถอยในยุโรปและการขับเคี่ยวทางการเมืองในอเมริกา มิหนำซ้ำการเติบโตในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอินเดีย เม็กซิโก และบราซิล ยังต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ ปัญหาของพวกชาติตลาดเกิดใหม่นั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือยังขาดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งสำคัญต่อการวิวัฒนาการไปสู่ตลาดที่โตเต็มที่มากขึ้น โดยที่แนวโน้มเช่นนี้ยังจะดำเนินต่อเนื่องในปี 2014

 

การที่ประเทศตลาดเกิดใหม่จะสามารถหลีกเลี่ยง “กับดักรายได้ระดับปานกลาง” ซึ่งหมายถึงการมีฐานะร่ำรวยเกินกว่าที่จะแข่งขันด้วยต้นทุน แต่ก็ยังยากจนเกินกว่าจะแข่งด้วยนวัตกรรมนั้น ชาติเหล่านี้ต้องทำการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ในเรื่องการศึกษา การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงกฎระเบียบและระบบภาษีที่สนับสนุนการบริโภคของชนชั้นกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้จะชี้ขาดแนวโน้มการอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจโลกต่อไปในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

      

นอกจากนี้ คอนเฟอเรนซ์บอร์ดยังคาดว่า การผ่อนคลายคิวอีของเฟด อาจกระตุ้นแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และกดดันราคาหุ้น ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังตลาดที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจมหภาคอีกทอดหนึ่ง

      

ขณะที่รายงานจาก "เครดิต สวิสส์" ที่มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในแง่ดีมาก โดยคาดว่าจะปี 2014 จะทำได้ 3.7% ซึ่งดีกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แรงหนุนสำคัญคือการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก แม้ตลาดอาจสะดุดบ้างจากการผ่อนมาตรการคิวอีของเฟดก็ตาม

      

นอกจากเครดิต สวิสแล้ว ยังมีธนาคารชั้นนำอีกหลายแห่งที่มองว่า เศรษฐกิจโลกปี 2014 จะมีการเติบโตน่าประทับใจ อาทิ ซิตี้กรุ๊ป ที่คาดการณ์อัตราเติบโตปีนี้ที่ 3.1% โดยให้เหตุผลเดียวกันคือการผ่อนคลายนโยบายการเงินในประเทศก้าวหน้า

      

ขณะเดียวกัน เครดิต สวิส ยังมองว่า ระบบการเงินโลกอ่อนแอน้อยกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน เนื่องจากภาคเอกชนอเมริกันเริ่มปลดหนี้ได้ ยูโรโซนมีพัฒนาการที่ดี และบีโอเจดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดแนวโน้มแง่ลบที่ขัดขวางการฟื้นตัวมาตั้งแต่ปี 2010

      

สุดท้ายเป็นการคาดการณ์ของ "พิมโค" ที่ฟันธงว่า ความท้าทายมากมายในปีที่เพิ่งผ่านไปเดินมาถึงจุดที่หมดแรงไปเองหรือถูกสยบจากทางเลือกต่างๆ จึงน่าเชื่อว่า เศรษฐกิจปี 2014 จะไม่ต่างจากฟ้าหลังฝน โดยมีอัตราเติบโต 2.5-3%

      

พิมโค ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ 4 พื้นที่สำคัญของโลก ได้แก่

      

อเมริกา : การผ่อนคลายการคุมเข้มนโยบายการคลังประกอบกับการปรับตัวของดีมานด์ในตลาดแรงงาน บ้าน และสินค้าคงทน รวมทั้งรายได้ในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ฯลฯ จะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 2.5-2.75% จาก 1.8% ในปี 2013

      

ยูโรโซน : มีแนวโน้มหลุดพ้นภาวะถดถอยในปีนี้ นโยบายการเงินที่ช่วยเปิดช่องการเติบโตหลังชะงักงันมานานในยูโรโซน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการคลังจากเข้มงวดมาก มาเป็นเข้มงวดพอประมาณ ตลอดจนการปรับตัวในด้านขีดความสามารถแข่งขัน ทำให้มีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 0.25-0.75% ในปีนี้

      

ญี่ปุ่น : นโยบายกระตุ้นพิเศษมีแนวโน้มช่วยให้เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยเติบโตต่อเนื่องในปี 2014 โดยผลจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินจะรับรู้ได้จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ การลงทุนเพิ่ม และผลลัพธ์จากการค้าสุทธิที่ดีขึ้น กระนั้น นโยบายคุมเข้มทางการคลังผ่านการขึ้นภาษีการขายในช่วงต้นปีนี้ ยังคงทำท่าว่าอาจจะสกัดกั้นการเติบโต ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังค้นหาวิธีปรับเปลี่ยนจากการพึ่งการส่งออกสู่แนวทางการเติบโตด้วยตัวเองในปีนี้ ทั้งี้คาดว่า อัตราขยายตัวของญี่ปุ่นในปีนี้จะอยู่ที่ 1-1.5%

      

จีน : อุปสงค์ภายนอกมีแววเพิ่มขึ้นในปี 2014 จากการที่เศรษฐกิจอเมริกาและยูโรโซนโตเร็วขึ้น ผิดกับอุปสงค์ภายในที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากการควบคุมการลงทุนภายนอก และการที่รัฐบาลกลางเบนความสนใจจากการเติบโต หันไปมุ่งเน้นความต้องการของภาคครัวเรือนมากขึ้น ตลอดทั้งลดทอนความสำคัญของความต้องการภาคอุตสาหกรรมลง อันจะทำให้อิทธิพลที่จีนมีต่อเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ แต่แน่นอน โดยคาดว่า เศรษฐกิจแดนมังกรปีนี้จะขยายตัว 7%