WORLDWIDE

อุตฯไฟฟ้าของจีนอาจใช้ถ่านหินสูงถึง 1,720 ล้านตัน ในปี 2030
POSTED ON 22/01/2558


ข่าวต่างประเทศ - นายหยวน เจียไห่ ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยนอร์ท ไชน่า อิเลคทริค เพาเวอร์ ของจีน กล่าวว่า การใช้ถ่านหินของอุตสาหกรรมไฟฟ้าของจีนจะแตะระดับสูงสุดที่ 1.72 พันล้านตันภายในปี 2030 หากแนวโน้มอุปสงค์ในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป และจีนมีการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งถ้าจีนดำเนินมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหินในอนาคต เช่น มีการประหยัดพลังงาน, มีการพัฒนาพลังงานที่ไม่ได้มาจากฟอสซิล และส่งเสริมประสิทธิภาพของการใช้พลังงานความร้อน การใช้ถ่านหินของอุตสาหกรรมไฟฟ้าของจีนจะแตะระดับสูงสุดที่ 1.45 พันล้านตันภายในปี 2025

 

นอกจากนี้ นายหยวนยังคาดการณ์ด้วยว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของจีนจะแตะระดับสูงสุดที่ 4.706 พันล้านตันภายในปี 2025 จากการลดการบริโภค ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าถือเป็นภาคส่วนที่ใช้ถ่านหินมากที่สุดของจีน โดยคิดเป็นสัดส่วน 50-55% ของการใช้ถ่านหินทั้งประเทศ

 

ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกปีนี้คือประเทศจีน

 

นายเคนเนธ ร็อกออฟ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยในการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ นายร็อกออฟได้กล่าวถึงความท้าทายต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญในปีนี้

 

โดย นายร็อกออฟ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งทั่วทุกภาคส่วน และคาดว่าการจ้างงานจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ค่าจ้างสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อประเทศอื่นๆ แต่ถ้าหากเศรษฐกิจยุโรปซบเซา และจีนเผชิญภาวะทรุดตัว ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน

 

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2557 ขยายตัว 7.4% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 24 ปี ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2557 อยู่ที่ 7.3% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับช่วงไตรมาส 3/2557

 

การขยายตัวของจีดีพีในปี 2557 ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้เล็กน้อยที่ 7.5% เนื่องจากทางการจีนประสบปัญหาในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจมาสู่ทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ท่ามกลางภาวะชะลอตัวของภาคที่อยู่อาศัย อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแรง และการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจโลก

 

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2558 ลงเหลือ 6.8% ซึ่งลดลง 0.3% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ พร้อมกับชี้ถึงความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำมันในอนาคต และปัจจัยที่ฉุดราคาน้ำมันลงนั้น ทำให้มีความเสี่ยงครั้งใหม่ต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

 

ที่มา : อินโฟเควสท์