WORLDWIDE

ญี่ปุ่นขยายลงทุนในลาวและเขมร หวังคานอำนาจจีน
POSTED ON 03/10/2557


ข่าวต่างประเทศ - หลายประเทศในเอเชียกำลังประสบปัญหากับจีนในเรื่องการอ้างสิทธิ์เหนือบริเวณต่างๆ ในทะเล ทั้งในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก รายงานเชิงวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ชี้แนะว่า การเพิ่มการลงทุนของญี่ปุ่นในลาวและกัมพูชาในขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของญี่ปุ่นที่จะคานอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกด้วย

 

แขวงสุวรรณเขตของลาวมีบริษัทญี่ปุ่น 8 บริษัทไปลงทุน และเริ่มงานแล้วเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทเหล่านี้ รวมทั้ง Nikon Corp และผู้ผลิตส่วนประกอบให้กับ Toyota Group ด้วย

 

ลาวเป็นพันธมิตรที่สนิทสนมกับจีน และได้รับเงินช่วยเหลือจากจีนมาตลอด อีกทั้งจีนยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในลาวด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการทำเหมือง การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และการเกษตร แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน นอกแขวงสุวรรณเขต เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทของญี่ปุ่นในประเทศลาว ซึ่งรวมทั้งสะพานข้ามแม่โขงเชื่อมต่อกับประเทศไทย และการปรับปรุงทางหลวงสู่พรมแดนทางตะวันออกที่ติดกับเวียดนาม

 

โดยแขวงสุวรรณเขตของลาวมีบริษัทญี่ปุ่น 8 บริษัทไปลงทุน และเริ่มงานแล้วเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทเหล่านี้ รวมทั้ง Nikon Corp และผู้ผลิตส่วนประกอบให้กับ Toyota Group ด้วย

 

บทความของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ให้ความเห็นว่า ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นในเรื่องสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ Senkaku ในภาษาญี่ปุ่น หรือ Diaoyu ในภาษาจีน ในทะเลจีนตะวันออกนั้น มีความตึงเครียดมากขึ้น ญี่ปุ่นได้เพิ่มความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเฉพาะเวียดนามได้รับความช่วยเหลือเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2555 มากกว่าที่ญี่ปุ่นเคยให้ประเทศใดๆ ทั้งสิ้น

 

เจ้าหน้าที่ทางการค้าอาวุโสผู้หนึ่งของญี่ปุ่นยอมรับว่า โตเกียวมองการให้ความช่วยเหลือว่าเป็นวิธีหนึ่งที่จะลดอิทธิพลของจีนในประเทศยากจน เช่น ลาว และกัมพูชา ได้ และการสนับสนุนให้มีการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมจะช่วยให้ประเทศเหล่านี้ช่วยตนเองได้ และพึ่งจีนน้อยลง

 

บทความชิ้นนี้ยกความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยมาเป็นยุทธศาสตร์ตัวอย่าง โดยชี้ว่า การลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งเวลานี้รวมแล้วมากกว่า 2 ใน 3 ของการลงทุนจากต่างประเทศ แม้จะมีเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นตัวผลักดัน แต่ผลที่ตามมาคือความสนิทสนมระหว่างประเทศทั้งสองที่ยังคงอยู่

 

บริษัทญี่ปุ่นในไทยส่วนใหญ่ยืนยันว่าจะไม่โยกย้ายไปที่อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังมองหาแหล่งลงทุนที่ค่าจ้างแรงงานต่ำด้วย หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของบริษัท Denso ผู้ผลิตส่วนประกอบรถยนต์ เผยว่า อยากจะหาทางลดต้นทุนการผลิต แต่ก็อยากอยู่ใกล้ประเทศไทยด้วย ซึ่ง Denso เพิ่งเปิดโรงงานในกัมพูชาเมื่อปีที่แล้ว แต่การแสวงหาแรงงานราคาถูกก็มีข้อคิดควรระวังตามมาด้วย เพราะมีบริษัทญี่ปุ่นบางรายร้องทุกข์ว่าแรงงานในกัมพูชาและลาวมักจะลางานไปเก็บเกี่ยวข้าว และมีไม่น้อยที่ทำงานหาเงินได้แล้ว ลาออกไปเรียนหนังสือต่อ

 

ขณะที่ทางด้านจีนเองก็ประกาศแผนจะจัดตั้งธนาคาร Asian Infrastructure ขึ้นมาเพื่อประสานความพยายามปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองกันว่าเป็นการแข่งกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ญี่ปุ่นมีอิทธิพลควบคุมอยู่ นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนร่วมในแผนจะสร้างทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมจังหวัดยูนนานของจีนกับลาวและประเทศไทยด้วย