VEHICLES

ฟอร์ด จับมือ โฟล์กสวาเกน เดินหน้าพัฒนารถไร้คนขับและรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ด
POSTED ON 15/07/2562


 

 

โฟล์กสวาเกนจะร่วมลงทุนกับฟอร์ดใน อาร์โก เอไอ บริษัทแพลตฟอร์มเทคโนโลยีรถไร้คนขับ มูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ทั้งสองบริษัทนำระบบขับขี่อัตโนมัติของอาร์โก เอไอ ไปติดตั้งในรถยนต์ของแต่ละแบรนด์ได้อย่างอิสระที่จะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญในระดับโลก

 

ฟอร์ดจะใช้การออกแบบรถยนต์ไฟฟ้า และโมดูลรถไฟฟ้า MEB ของโฟล์กสวาเกน ในการออกแบบและผลิตรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบอย่างน้อย 1 รุ่นเพื่อลูกค้าในตลาดยุโรป ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป เพื่อส่งมอบรถยนต์ที่เปี่ยมคุณภาพตามความมุ่งมั่นของบริษัท และใช้ประโยชน์จากการผลิตของโฟล์กสวาเกนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ฟอร์ดและโฟล์กสวาเกนยังคงเดินหน้าพัฒนารถตู้เชิงพาณิชย์และรถกระบะขนาดกลางให้กับทั้งสองแบรนด์ ในหลายๆ ตลาด ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยร่วมกันลงทุนในการพัฒนา เพื่อเสริมการผนึกกำลังอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

ความร่วมมือระดับโลกระหว่างโฟล์กสวาเกนและฟอร์ด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้นของทั้งสองบริษัทแต่อย่างใด จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของทั้งสองบริษัทในแต่ละปีได้

 

ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี และโฟล์กสวาเกน กรุ๊ป ประกาศขยายความร่วมมือเป็นพันธมิตรระดับโลกในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และจะร่วมกับอาร์โก เอไอ เพื่อเปิดตัวเทคโนโลยีรถไร้คนขับในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพื่อให้ทั้งสองบริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดร. เฮอร์เบิร์ท ไดส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โฟล์กสวาเกน และ มร. จิม แฮคเก็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี พร้อมด้วย มร. ไบรอัน เซลสกี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์โก เอไอ ประกาศว่า โฟล์กสวาเกนจะร่วมกับฟอร์ดในการลงทุนกับอาร์โก เอไอ บริษัทแพลตฟอร์มเทคโนโลยีรถไร้คนขับ

 

จากความร่วมมือระหว่างฟอร์ดและโฟล์กสวาเกน ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (SDS) ของอาร์โก เอไอ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการรุกตลาดยุโรป และอเมริกา นอกจากนั้น แพลตฟอร์มของอาร์โก เอไอ ที่สามารถเข้าถึงตลาดผ่านเครือข่ายทั่วโลกของผู้ผลิตรถยนต์ ยังมีศักยภาพในการขยายเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติให้ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางที่สุดในปัจจุบัน โฟล์กสวาเกน และฟอร์ดต่างก็จะนำระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติดังกล่าวมาใช้กับรถที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนการนำร่องการขนย้ายคนและสินค้าของทั้งสองบริษัท

 

สิ่งที่อาร์โก เอไอให้ความสำคัญยังคงเป็นการนำระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ SAE Level 4-capable ไปประยุกต์ใช้กับรถเพื่อการแบ่งปันการใช้บริการ (ride sharing) และบริการส่งของในพื้นที่ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น

 

ฟอร์ด และโฟล์กสวาเกนจะถือหุ้นจำนวนเท่ากันในอาร์โก เอไอ และทั้งสองจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด สัดส่วนที่เหลือจะเก็บไว้เป็นกองทุนสำหรับค่าตอบแทนพนักงานของอาร์โก เอไอ โดยความตกลงครั้งนี้จะสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติตามกฎระเบียบและเงื่อนไขตามข้อตกลง

 

"ในขณะที่ฟอร์ด และโฟล์กสวาเกนยังคงดำเนินกิจการอย่างอิสระจากกัน และแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาด การร่วมมือกับอาร์โก เอไอเพื่อใช้เทคโนโลยีที่สำคัญนี้ ทำให้เรามีความได้เปรียบในด้านขีดความสามารถ ระดับการเข้าถึงครอบคลุมในทุกพื้นที่" มร. แฮคเก็ต กล่าว "การหันมาทำงานร่วมกันในหลายๆ ด้านทำให้เราสามารถแสดงพลังของความร่วมมือระดับโลกในยุคแห่งยานยนต์อัจฉริยะ เพื่อโลกอัจฉริยะ"

 

บรรดาผู้นำได้ประกาศว่าฟอร์ดจะเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่ได้ใช้การออกแบบรถยนต์ไฟฟ้า และโมดูลรถยนต์ไฟฟ้า (Modular Electric Toolkit หรือ MEB) ของโฟล์กสวาเกน เพื่อส่งมอบรถไร้มลพิษในปริมาณมากให้กับตลาดยุโรป ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

 

ฟอร์ดตั้งเป้าที่จะส่งรถไปจำหน่ายในยุโรปกว่า 600,000 คัน ที่ใช้โมดูลรถยนต์ไฟฟ้าในระยะเวลา 6 ปี พร้อมกับรถฟอร์ดรุ่นใหม่รุ่นที่สองสำหรับลูกค้ายุโรปที่อยู่ในระหว่างการตัดสินใจ การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ตลาดยุโรปของฟอร์ดคือการใช้จุดแข็งของฟอร์ด ที่มีทั้งรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถครอสโอเวอร์ และรถนำเข้าระดับตำนานอย่าง มัสแตง และ เอ็กซ์พลอเรอร์

 

โฟล์กสวาเกนเริ่มพัฒนาโมดูลรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวในปี 2559 โดยใช้เงินลงทุนกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยวางแผนจะใช้โมดูลนี้ผลิตรถราว 15 ล้านคันเฉพาะสำหรับโฟล์กสวาเกน กรุ๊ปภายใน 10 ปีข้างหน้า

สำหรับฟอร์ด การใช้โมดูลรถยนต์ไฟฟ้าของโฟล์กสวาเกนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลงทุนกว่า 11.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก และเป็นไปตามพันธกิจของฟอร์ดที่จะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่นให้กับลูกค้ายุโรป โดยสอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืนของบริษัท

 

"ในอนาคต ทั้งลูกค้าและสิ่งแวดล้อมจะได้รับประโยชน์จากโครงสร้างการพัฒนารูปแบบรถยนต์ไฟฟ้าในระดับผู้นำอุตสาหกรรมของโฟล์กสวาเกนมากยิ่งขึ้น พันธมิตรระดับโลกของเราเริ่มแสดงให้เห็นถึงคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเรายังเดินหน้ามองหาโอกาสด้านอื่นๆ ที่จะทำงานร่วมกันต่อไปอีก" ดร. ไดส์ กล่าว "การนำโมดูลรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในอีกระดับ ทำให้ต้นทุนในการพัฒนารถยนต์ไร้มลพิษ ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ทั่วโลกสามารถใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ทั่วถึงและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับตำแหน่งทางธุรกิจของทั้งสองบริษัท โดยประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน การเติบโต และขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดียิ่งขึ้น"