VEHICLES

จีเอ็ม, ฟอร์ด และไครสเลอร์ คืนชีพ หลังไต่ขึ้นจากหุบเหวสู่ความเฟื่องฟูอีกครั้ง
POSTED ON 11/01/2557


 

ข่าวยานยนต์ - ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 คล้อยหลังการล่มสลายของอาณาจักรการเงินขนาดยักษ์ "เลห์แมนบราเธอร์ส" ในเดือนกันยายนได้ไม่นาน บรรดาค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 อภิมหาอำนาจวงการรถยนต์คือ เจเนอรัล มอเตอร์ (GM), ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford) และไครสเลอร์ คอร์ปอเรชั่น (Chrysler) ล้วนตกอยู่ในสภาพยักษ์ลำบาก สภาพคล่องทางการเงินขาดมืออย่างหนัก กระทั่งหมดปัญญาที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และจำเป็นต้องซมซานไปแบมือขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล

 

รูปแบบการหยิบยื่นความช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลแก่บรรดาอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นไปในลักษณะที่บรรดาค่ายรถยนต์ทั้งหลายที่ประสงค์ขอรับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล เป็นฝ่ายออกหุ้นเพิ่มทุนขายแก่รัฐบาล ซึ่งในบรรดา 3 ค่ายยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถยนต์ มีเพียงค่ายฟอร์ด มอเตอร์ เท่านั้นที่สามารถดิ้นรนรอดพ้นจากภาวะขาดสภาพคล่องด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

คณะกรรมการของฟอร์ด มอเตอร์ ภายใต้อิทธิพลของครอบครัวตระกูลฟอร์ดขณะนั้นใจกว้างพอที่จะยอมเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตระกูลฟอร์ด แต่มีขีดความสามารถสูงพอที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าสามารถประคับประคองธุรกิจให้ก้าวข้ามวิกฤติไปได้

 

นั่นคือที่มาของการอุ้ม "นายอลัน มูลัลลี่" ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างความโดดเด่นแก่อาณาจักรเครื่องบินโบอิ้ง ให้เข้ามาทำหน้าที่กอบกู้วิกฤติของฟอร์ด มอเตอร์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยหวังว่าเขาจะสามารถทำได้ดียิ่งกว่าที่ทำให้แก่โบอิ้ง ทั้งๆ ที่รู้แก่ใจดีว่า อลัน มูลัลลี่ มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็น "ศูนย์"

 

5 ปีผ่านไป ค่ายจีเอ็ม และไครสเลอร์ ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูทางการเงินจากรัฐบาล และค่ายฟอร์ดภายใต้บังเหียนของ อลัน มูลัลลี่ ได้พลิกฟื้นและหลุดพ้นจากความล่มจม พุ่งทะยานขึ้นสู่ความเฟื่องฟูอย่างเต็มที่อีกครั้ง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายจีเอ็มได้ซื้อหุ้นทั้งหมดเป็นมูลค่านับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐกลับคืนจากรัฐบาลเบ็ดเสร็จเรียบร้อยไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งวันหลังการปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นกิจการในอาณัติของรัฐบาล คณะกรรมการของจีเอ็มก็วาดลวดลายเขย่าวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งโลกด้วยการแต่งตั้ง "นางแมรี่ บาร์ร่า" สุภาพสตรีเชื้อสายฟินแลนด์วัย 51 ปีให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนที่ "นายแดน อาเคอร์สัน" ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่งไปดูแลภรรยาที่ป่วยเป็นมะเร็ง

 

การตัดสินใจของคณะกรรมการจีเอ็มในการแต่งตั้งแมรี่ บาร์ร่า ต้องถือเป็นความกล้าหาญไม่ต่างไปจากที่คณะกรรมการฟอร์ด มอเตอร์ ที่แต่งตั้ง อลัน มูลัลลี่ และทำให้เธอคือผู้บริหารสูงสุดคนแรกแห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่เธอจะได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้กุมบังเหียนสูงสุดของค่ายจีเอ็ม ซึ่งกลับคืนสู่ความเป็นหมายเลข 1 ของอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกาโดยสมบูรณ์แล้ว เธอเคยได้รับยกย่องจากนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็น 1 ในสุภาพสตรีที่ทรงอิทธิพลของโลกเมื่อปี 2555 ขณะที่เธอดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารด้านการพัฒนาการผลิตการจัดซื้อและการขนส่งของจีเอ็ม

 

หลายคนอาจไม่ทราบว่า แมรี่ บาร์ร่า กับ จีเอ็ม นั้นมีความผูกพันที่ลึกซึ้งต่อกันมายาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อ ซึ่งทำงานอยู่กับจีเอ็มต่อเนื่องกันถึง 39 ปี ขณะที่เธอก็เข้าร่วมงานกับจีเอ็มตั้งแต่อายุ 18 ปี ในฐานะพนักงานฝึกหัด และได้มีโอกาสร่ำเรียนจนสำเร็จเป็นวิศวกรไฟฟ้า จากสถาบันจีเอ็ม หรือ มหาวิทยาลัยเคทเตอริ่ง ในปัจจุบันนี้

 

ทางด้านความเคลื่อนไหวของฟอร์ด มอเตอร์ ซึ่งมีผลประกอบการดีวันดีคืน ได้วางแผนรุกหนักในปี 2557 ทั้งในตลาดอเมริกา และตลาดเอเชียแปซิฟิก โดย อลัน มูลัลลี่ ซีอีโอของฟอร์ด มอเตอร์ เตรียมปักหมุดขยายโรงงานในจีนเพิ่มเติมอีก 2 โรงงาน พร้อมกับขยายอัตรากำลังพนักงานเพิ่มเติมอีก 11,000 อัตรา โดยแบ่งเป็นการเพิ่มอัตรากำลังในเอเชีย 6,000 อัตรา เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มเติมอัตรากำลังในอเมริกา จำนวน 5,000 อัตรา เพื่อรองรับการเพิ่มกำลังการผลิต และพัฒนาออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่จำนวน 16 รุ่นที่จะเปิดตัวในปี 2557

 

สำหรับโครงสร้างส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ 5 อันดับแรกของโลก ณ ปัจจุบัน ค่ายโตโยต้า ยังครองแชมป์ความเป็นเจ้าตลาดรถยนต์โลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.3 รองลงมา คือ โฟล์คฯ ร้อยละ 9.8 อันดับ 3 คือ จีเอ็ม ร้อยละ 7.6 อันดับ 4 คือฟอร์ดฯ ร้อยละ 6.4 และอันดับ 5 ได้แก่ นิสสันฯ ร้อยละ 5.6

 

ที่มา : สยามธุรกิจ