VEHICLES

อุตฯรถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริดคึกคัก หลายค่ายแห่ขอส่งเสริมการลงทุน
POSTED ON 10/01/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายค่ายรถยนต์ที่ประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับโครงการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ซึ่งประกอบด้วย (1) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า หรือ HEV (Hybrid Electric Vehicle) (2) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งคิดอัตราภาษีสรรพสามิตแค่ 50% และ (3) รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) คิดภาษีสรรพสามิตแค่ 2%

 

โดยก่อนสิ้นปี 2560 มีผู้ประกอบการ 5 ราย ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฮบริดตามกรอบเวลา ประกอบด้วย

 

  1. โตโยต้า ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 20,000 ล้านบาท ใช้โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 70,000 คัน/ปี

 

  1. นิสสัน ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 10,960 ล้านบาท ใช้โรงงานนิสสัน กม.21 บางนา-ตราด กำลังการผลิต 80,000 คัน/ปี

 

  1. มาสด้า ขอรับส่งเสริมด้วยมูลค่าลงทุน 11,4000 ล้านบาท ใช้โรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ จ.ระยอง กำลังการผลิต 120,000 คัน/ปี

 

  1. ฮอนด้า ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,070 ล้านบาท ใช้โรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี กำลังการผลิต 37,000 คัน/ปี

 

  1. ซูซูกิ ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 2,500 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง กำลังการผลิต 12,000 คัน/ปี

 

นอกจากนี้ ยังมีค่ายยุโรปยื่นขอรับการส่งเสริมในกลุ่มรถยนต์ประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริด อีก 3 ราย ประกอบด้วย

 

  1. เมอร์เซเดส-เบนซ์ ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 600 ล้านบาท ใช้โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จ.สมุทรปราการ กำลังกสนผลิต 8,000 คัน/ปี

 

  1. บีเอ็มดับเบิลยู ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 705 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง กำลังการผลิต 100,000 คัน/ปี

 

  1. เอ็มจี ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,030 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี กำลังการผลิต 7,000 คัน/ปี

 

โดยกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังมีเวลาเพียงพอ เพราะกรอบเวลาให้ไว้ถึง 31 ธ.ค.2561

 

แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า หลังได้รับส่งเสริมคาดว่ารถยนต์ไฮบริดรุ่นแรกที่นำออกวางตลาดในราวปลายไตรมาสแรกของปีนี้ น่าจะเป็นโตโยต้า ซี-เอชอาร์ เอสยูวีไซซ์กลาง ขนาดเครื่อง 1.8 ลิตร และ 1.8 ลิตรผสมกับมอเตอร์ไฟฟ้า (ไฮบริด) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำงานร่วมกับทางซัพพลายเออร์หลายราย อาทิ ไทยซัมมิท ฯลฯ ในการปรับปรุงชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้สอดรับกับรถยนต์ในกลุ่มนี้ โดยรายละเอียดนำเสนอบีโอไอจะมีทั้งแผนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปีละประมาณ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ประตู กันชน เพลาหน้า-หลัง และอื่น ๆ ปีละเกือบ 10 ล้านชิ้น ซึ่งทั้งโครงการน่าจะมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมูลค่าราว 10,000 ล้านบาทต่อปี

 

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแผนลงทุนในปี 2561 ว่า มาสด้าจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ลงทุนเกี่ยวกับชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้กับรถยนต์มาสด้าทุกรุ่น และรถยนต์ในกลุ่มไฮบริด ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้า เจเนอเรเตอร์ และอื่น ๆ ซึ่งน่าจะใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาท

 

แหล่งข่าวฝ่ายบริหารของมาสด้า ระบุว่า เฉพาะโรงงานมาสด้า พาวเวอร์เทรน เมนูแฟคเจอริ่ง (MPMT) ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี จะมีการลงทุนเพิ่มอีกราว 7,200 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องยนต์จาก 30,000 เครื่องต่อปี ไปเป็น 1.22 แสนเครื่องต่อปี ภายในครึ่งปีแรกของปี 2561 นอกจากนี้ ยังประกาศแผนลงทุนเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ใหม่ พร้อมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งจะให้มีกำลังการผลิตเทียบเท่ากับกำลังการผลิตของโรงงานประกอบเครื่องยนต์ในปัจจุบัน

 

นายโมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มิตซูบิชิสนใจเข้าร่วมโครงการรถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด โดยตอนนี้ยังมีเวลาพอ เนื่องจากกรอบเวลาสามารถยื่นได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา มิตซูบิชิถือเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งขณะนี้มิตซูบิชิมีสินค้า 1 รุ่น ที่ออกจำหน่ายและได้รับความนิยม คือ มิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ และตามแผนงานในช่วงระยะกลางถึงระยะยาว ยังมีแผนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไปพร้อมกับรถยนต์รุ่นอื่น ๆ อีกด้วย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีนั้น ผู้ผลิตยังให้ความสำคัญน้อย เพราะตลาดยังต้องเตรียมความพร้อมอีกมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนไม่ว่าจะเป็นตัวถังซึ่งต้องพัฒนาให้มีน้ำหนักเบา แบตเตอรี่ต้องเก็บประจุได้มากเพื่อให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น และสถานีชาร์จประจุซึ่งยังไม่แพร่หลาย รวมถึงตลาดเองก็น่าจะได้รับผลกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ตามข้อตกลงการค้าหรือเอฟทีเอ ซึ่งในวันที่ 1 ม.ค.2561 สินค้าจำนวน 703 รายการ ที่นำเข้าจากประเทศจีน จะเสียอัตราภาษี 0% ซึ่งในจำนวนนั้นมีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมอยู่ด้วย

 

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ (8-12 ม.ค.2561) จะมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง บีโอไอ และ สศอ. เกี่ยวกับแนวทางรับมือผลกระทบจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่สินค้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากประเทศจีน จะได้รับการลดอากรขาเข้าลงเหลือ 0% อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมสรรพสามิตมองว่า ในระยะ 5 ปีนี้ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจะยังไม่สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างภาษีรถยนต์ในประเทศไทยปัจจุบัน ดังนั้น สิ่งที่จะหารือกันก็คือ แนวทางการรองรับผลกระทบในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้ามากกว่า

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ