VEHICLES

FOMM รถไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่นเล็งตั้งฐานการผลิตในไทย
POSTED ON 01/08/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า บริษัท FOMM Corporation ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและแบตเตอรี่จากญี่ปุ่น มีแผนที่จะเข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ผลิตของไทย เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งขายในตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรป โดยขณะนี้รถยนต์ต้นแบบได้ผลิตเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบด้านความปลอดภัย

 

ก่อนหน้านี้ นายฮิเดโอะ ซุรุมากิ (Hideo Tsurumaki) ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท FOMM Corporation ของญี่ปุ่น ได้เผยถึงแผนการลงทุนครั้งสำคัญที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแห่งแรก หลังจาก 2 ปีที่แล้วได้นำรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบมาอวดในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2558

 

รถยนต์ไฟฟ้า FOMM ถูกยกให้เป็นรถยนต์ EV (Electric Vehicle) แบบ 4 ที่นั่งที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก โดยรถยนต์ไฟฟ้า FOMM สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่วิ่งได้ไกลสุดต่อการชาร์จ 1 ครั้งอยู่ที่ 150 กิโลเมตร โดยใช้เวลาในการชาร์จครั้งละ 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ FOMM ยังสามารถลอยน้ำและขับเคลื่อนบนผิวน้ำได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ความสามารถดังกล่าวยังสามารถอัพเกรดขึ้นได้อีก โดยเมื่อโรงงานผลิตในประเทศไทยแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถพัฒนาให้รถยนต์ไฟฟ้า FOMM วิ่งได้ระยะทางถึง 300 กิโลเมตร 

 

ด้าน นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด หรือ FOMM กล่าวว่า “รถยนต์ไฟฟ้า FOMM ใช้เวลาในการพัฒนาให้กลายเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.รถยนต์ของไทย หรืออยู่ในพิกัดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รย.1) มีส่วนควบครบ ขณะที่กำลังมอเตอร์ไฟฟ้ากระทรวงคมนาคมเพิ่งปรับลดลงมาให้เหลือ 4-15 กิโลวัตต์ ดังนั้น จึงสามารถจดทะเบียนวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนต้นทุนต่อหน่วยการวิ่งของ FOMM ก็ถูกกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 10 เท่า และค่าดูแลรักษาระหว่างการใช้งานถูกกว่าถึง 100 เท่า”

 

ขณะนี้บริษัทฯ กำลังเร่งระดมเครื่องจักรและพัฒนาสายการผลิตที่โรงงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี โดยใช้ชิ้นส่วนนำเข้า 30% และชิ้นส่วนภายในประเทศ 70% รวมถึงแบตเตอรี่จากบริษัท เบต้าเอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยด้วย โดยเบื้องต้นคาดว่าในเฟสแรกจะมีกำลังผลิตรวม 5,000 คันต่อปี

 

สำหรับสถานีชาร์จแบตเตอรี่นั้น ทาง FOMM ได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าและเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมทั้งการบริการหลังการขายที่จะดำเนินร่วมกัน โดยในระยะแรกจะตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงก่อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น