VEHICLES

ญี่ปุ่นเชื่อมั่นไทย ยันเป็นฐานผลิตยานยนต์ดีที่สุด
POSTED ON 20/12/2556


 

ข่าวยานยนต์ - ที่ผ่านมาไทยถือเป็นแหล่งลงทุนใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน แม้ประเทศไทยจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ญี่ปุ่นก็ไม่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่คนไทยจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐบาลจนต้องประกาศยุบสภา ก็เกิดความกังวลว่าถึงนาทีนี้มุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยจะเป็นยังไง

 

นายอุดม วิวัฒนไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (BOI) เปิดเผยถึงการประชุมร่วมกับ นายคิมิโนะริ อิวามะ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายซูซุมุ อูเนโนะ ประธานคณะกรรมการบริหารหอการค้าญี่ปุ่น หรือ JCC ได้รับคำตอบว่าสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ยังไม่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นชะลอการลงทุนแต่อย่างใด

 

ด้าน นายสมพล รวยสว่างบุญ ผู้ประสานงานด้านการลงทุนระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตนเพิ่งเดินทางกลับจากญี่ปุ่น โดยไปประสานงานเพื่อดึงกลุ่มนักธุรกิจ ยานยนต์ของญี่ปุ่นมาลงทุนในเมืองไทย โดยมีอย่างน้อย 3 บริษัทรับปากจะมาลงทุนในเมืองไทยแน่นอน โดยขอให้ตนช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมเม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านบาท ญี่ปุ่นมองว่าไทย ยังน่าลงทุนมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน เพราะมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี มีแรงงานฝีมือ ซึ่งเจ้าของบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์กล่าว ยืนยันกับตนว่า คุณภาพการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นในเมืองไทยวันนี้ดีกว่าที่ญี่ปุ่นเสียอีก

 

ในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์จะโยกออกจากญี่ปุ่นมากขึ้น ญี่ปุ่นจะกลายเป็นเพียงศูนย์เทรนนิ่ง ส่วนฐานการผลิตทั้งหมดอยู่ที่เมืองไทย และประเทศแถบอาเซียน ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ตนขอการันตีว่านักลงทุนญี่ปุ่น ไม่มีความกังวลเลย เพราะเขาอยู่ในเมืองไทยมานาน รู้ทิศทางการเมืองไทย เขามั่นใจว่าการเมืองเที่ยวนี้มีทางออกแน่นอน ทุกฝ่ายมีทางลง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะลงก่อน

 

ในช่วงระหว่างปี 2551-2555 มีโครง-การลงทุนจากญี่ปุ่น ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2,386 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 852,646 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โครงการลงทุนขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสูงกว่า 10,000 ล้านบาท อาทิ โครงการ ผลิตยางรถยนต์ของบริษัท บริดจสโตน เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท โครงการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะของบริษัท ฟูรุคาว่า เงินลงทุน 19,000 ล้านบาท โครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลและชิ้นส่วนของบริษัท สยามโตโยต้า เงินลงทุน 17,000 ล้านบาท โครงการผลิตรถกระบะของบริษัท นิสสัน เงินลงทุน 15,000 ล้านบาท โครงการผลิตรถยนต์ของบริษัท โตโยต้า เงินลงทุน 14,000 ล้านบาท โครงการผลิตกล้องดิจิตอลและชิ้นส่วนของบริษัท นิคอน เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท โครงการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทฟูจิคุระ เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท และโครงการผลิตชุดเกียร์รถยนต์ของบริษัท มาสด้า เงินลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนในช่วง 9 เดือน ปี 2556 มีโครงการจาก ญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 448 โครงการ เงินลงทุนรวม 211,350 ล้านบาท

 

ที่มา : สยามธุรกิจ