VEHICLES

เอกชนเชื่อภาษีรถยนต์ใหม่ส่งผลดีในระยะยาวต่ออุตฯยานยนต์ไทย
POSTED ON 11/12/2558


ยานยนต์อุตสาหกรรม 11 ธ.ค.2558 - เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงการคลัง แถลงข่าวยืนยันความพร้อมในการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตรถยนต์แบบใหม่ โดยเก็บจากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากเดิมจัดเก็บตามประเภทและขนาดความจุของเครื่องยนต์ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2555 และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2559 เป็นต้นไป

 

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า "กรมสรรพสามิตพร้อมออกประกาศเพื่อจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯแล้ว เพื่อเริ่มจัดเก็บได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2559 เป็นต้นไป โดยได้แบ่งรถยนต์ออกเป็น 2 ประเภท คือ รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ และรถยนต์นำเข้า โดยทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องนำรถยนต์มาให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจค่าคาร์บอนฯ แล้วส่งมาที่กรมสรรพสามิต เพื่อจัดพิกัดภาษีว่าต้องจัดเก็บอัตราเท่าใด ส่วนรถนำเข้า ทางกรมศุลกากรจะเป็นผู้ส่งรถมาตรวจและจัดเก็บภาษี"

 

"ทางกรมสรรพสามิตได้หารือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว แม้มีข้อกังวลบ้างเรื่องของขั้นตอนการตรวจวัดค่าคาร์บอนฯ ซึ่งผู้ประกอบการห่วงว่าจะใช้เวลานาน แต่ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ซึ่งเริ่มตรวจวัดค่าและทำป้ายข้อมูลรถยนต์ หรือ อีโค สติกเกอร์ มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 แล้ว ทำให้ปัจจุบันมีรถที่ผลิตในประเทศที่ตรวจวัดค่าคาร์บอนฯแล้ว 677 รุ่น ส่วนรถนำเข้า ทาง สมอ.ก็ยืนยันว่าการตรวจวัดเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด" นายสมชาย กล่าว

 

นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า "การจัดเก็บภาษีแบบใหม่นี้จะไม่กระทบกับรถยนต์ขนาดเล็ก หรือ อีโอคาร์ เพราะมีการปล่อยคาร์บอนฯในอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว และไม่กระทบกับรถยนต์ขนาดใหญ่ หรือ ซูเปอร์คาร์ ที่มีขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 3,000 ซีซี ขึ้นไป เพราะจ่ายภาษีอัตราสูงสุดอยู่แล้ว คือ 50% แต่จะกระทบกับรถยนต์นั่งขนาดกลางที่มีขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,800-2,000 ซีซี ขึ้นไป ที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มในอัตรา 3-5% จากที่เคยจัดเก็บ 30-35% ก็จะจัดเก็บเพิ่มเป็น 35-40% หากรถยนต์เหล่านี้มีการพัฒนาและปรับปรุงการผลิต จนลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯลงได้ จะจ่ายภาษีลดลงได้ 3-5% เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้มีหลายรุ่นที่ทำได้แล้ว"

 

นายยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT กล่าวว่า "เชื่อว่าการปรับภาษีรถยนต์ใหม่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมในปีหน้ามากนัก แต่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมระยะยาว เพราะช่วยให้การส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯและยุโรปทำได้มากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิอัตราภาษีศุลกากร (GSP) จากยุโรป แต่ยอดการส่งออกไปยุโรปก็ยังสามารถเติบโตได้ตามภาวะเศรษฐกิจของยุโรป"

 

"ส่วนในปี 2559 บริษัทฯมั่นใจว่า ยอดการผลิตรถยนต์โดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่สัดส่วนยอดขายราว 60% จะยังมาจากการส่งออกเช่นเดียวกับปีนี้ ขณะที่ยอดขายในประเทศเองจะค่อยๆ ฟื้นตัว และผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรกน่าจะยังมีอยู่บ้าง แต่อาจจะไม่เต็มปีอย่างเช่นที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะช่วยให้รายได้รวมของบริษัทฯเติบโต 5-10% และยังได้แรงหนุนจากการผลิตชิ้นส่วน SFT ที่จะรับรู้รายได้เต็มปีจากที่เริ่มผลิตในช่วงไตรมาส 3/2558 ที่ผ่านมา รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนให้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย โดยคาดว่าบริษัทฯจะสามารถรักษาอัตรากำไรสุทธิไว้ได้ในระดับ 7-8%" นายยงเกียรติ์ กล่าว

 

นายยงเกียรติ์ ยังกล่าวด้วยว่า "ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีหน้าคือเศรษฐกิจโดยภาพรวมทั้งในและต่างประเทศ เพราะโดยปกติแล้วยานยนต์จะพึ่งพิงกับจีดีพีของประเทศนั้นๆ หากเศรษฐกิจฟื้น กลุ่มยานยนต์ก็จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย"

 

ด้าน นางสาวเย็บ ซิน หรู ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH กล่าวว่า "ผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีรถยนต์ใหม่จะเป็นแรงกดดันแค่ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งการส่งออกยังสามารถเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ ขณะที่การส่งเสริมอีโคคาร์จะเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญต่อไป เพราะมีข้อได้เปรียบเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้ว ซึ่งบริษัทฯเชื่อว่าในระยะยาวประเทศไทยจะยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ต่อไป โดยเฉพาะรถปิกอัพ เพราะไทยมีการพัฒนาเรื่องของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) มานานแล้ว ทำให้มีความสมบูรณ์มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และไทยจะเป็นฐานการผลิตอีโคคาร์ต่อไปในอนาคต"

 

"สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทฯในปีหน้าคาดว่าจะเติบโตตามอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยปัจจัยหนุนที่สำคัญยังมาจากการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งน่าจะมีสัดส่วน 60% ใกล้เคียงกับปีนี้ ส่วนงบลงทุนในปีหน้าบริษัทฯตั้งไว้ที่ 400 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร รองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตของบริษัทฯสามารถรองรับได้ถึง 3 ล้านคันต่อปีอยู่แล้ว แต่ภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวทำให้เราใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็มที่ โดยบริษัทฯตั้งเป้าเพิ่มอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยปีละ 0.5-1% ให้สอดคล้องกับแผนระยาวที่จะเพิ่มอัตรากำไรสุทธิเป็น 10% ในปี 2563 และรายได้แตะ 30,000 ล้านบาท" นางสาวเย็บ กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics