VEHICLES

ส.อ.ท. ชี้ ต้องดูรอบด้านหากจะดันไทยเป็นฮับผลิตรถ EV
POSTED ON 21/08/2558


ยานยนต์อุตสาหกรรม - นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถไฟฟ้ายังมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง แบตเตอรี่ยังมีราคาแพง การชาร์จไฟแต่ละครั้งมีเวลานาน อีกทั้งปัจจุบันน้ำมันราคาถูกลง อาจทำให้ความต้องการใช้รถไฟฟ้าลดลง เหลือเพียงแรงจูงใจในระยะยาวที่ต้องการลดปัญหาภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ การจะผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ยังต้องพิจารณาสาธารณูปโภคพื้นฐานว่า พลังงานไฟฟ้าในประเทศมีเพียงพอหรือไม่ สถานีชาร์จไฟด่วนมีจำนวนเท่าไหร่ เพียงพอกับความต้องการหรือไม่

 

สำหรับแนวทางการผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้านั้น อย่างแรกต้องเป็นการสนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มต้นที่การใช้รถบัสโดยสารสำหรับการขนส่งมวลชน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดมลภาวะในเมืองใหญ่ โดยให้เงื่อนไขพิเศษ ไม่เสียภาษีนำเข้า จำกัดโควตาแค่ 100-200 คัน โดยติดตั้งเครื่องชาร์จไฟความเร็วสูงที่ท่ารถ

 

เมื่อมีความนิยมใช้มากขึ้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะให้เงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้า แบตเตอรี่ เพื่อสนับสนุนการผลิตภายในประเทศต่อไปในแผนระยะยาว ซึ่งต้องดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ เพราะมีหลายประเทศ ต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าในอาเซียนด้วยเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งจีนก็มีการส่งเสริมการผลิตรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

 

นายประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดและการขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้ความเห็นว่า นิสสันมีรถไฟฟ้าที่ทำตลาดเชิงพาณิชย์ในรุ่นลีฟ โดยมีการผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มียอดขายทั่วโลกกว่า 1 แสนคัน ในส่วนของความเป็นไปได้ของรถไฟฟ้าในไทยนั้น นิสสันมองว่ารัฐบาลควรวางนโยบายระยะกลาง-ยาว โดยจับมือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดนโยบายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าและส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งแนวโน้มของรถไฟฟ้าในอนาคตจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น ดังนั้น เราควรช่วงชิงจังหวะด้วยการให้ไทยเป็นฐานการผลิต เพราะไทยได้เปรียบเรื่องการผลิต รวมถึงต้นทุนต่างๆ ที่ถูกกว่าญี่ปุ่น ตรงจุดนี้เราต้องการเห็นภาครัฐมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังและมีข้อสรุปของรถไฟฟ้าในไทย

 

ด้าน นายโมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในเรื่องนี้ว่า มิตซูบิชิประสบความสำเร็จในการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า "ไอ-มิฟ" ในยุโรป โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้ให้ความสำคัญด้านสาธารณูปโภคที่อำนวยความสะดวกให้แก่การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จไฟ เป็นต้น ในด้านการลงทุน รัฐบาลเหล่านั้นได้ให้การสนับสนุนด้านภาษี หรือเงินสนับสนุนให้แก่ลูกค้า ขณะที่ในด้านการลงทุนเริ่มต้น มีการสนับสนุนด้านการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ด้วย สำหรับประเทศไทย หากรัฐบาลให้แนวทางและรายละเอียดที่ชัดเจน และหากปัจจัยต่างๆ ได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า บริษัทฯก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

 

ขณะที่ทางด้าน บริษัท ควายทอง มอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือควายทอง กรุ๊ป ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไฮบริด คิเนติค กรุ๊ป ฮ่องกง เปิดตัวรถขนส่งไฟฟ้าในประเทศไทยและจะขยายออกไปสู่ตลาดเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้ง10 ประเทศ ทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย โดยตั้งเป้ายอดขาย 5,000 คัน ภายใน 3 ปี และในอนาคตมีแผนจะประกอบรถขนส่งไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย  

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy