VEHICLES

"โฟล์ก" สนใจเปิดไลน์ผลิตอีโคคาร์ในไทย
POSTED ON 07/11/2557


ยานยนต์อุตสาหกรรม - "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับ "นายรอล์ฟ ชุลเซอ" เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2557 ที่ผ่านมา โดยเยอรมันได้เชิญให้ร่วมเดินทางกับกระทรวงอุตสาหกรรมไปดูงานการผลิตรถยนต์โฟล์กสวาเกน และการทำเหมืองแร่โปแตสในเยอรมัน ช่วงวันที่ 16 พ.ย.2557 นี้ เพราะที่ผ่านมาโฟล์กได้แสดงความสนใจเข้ามาผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ในไทย และยังมีเอกชนของเยอรมันสนใจเข้ามาทำเหมืองแร่โปแตสที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งถ้าเยอรมันเข้ามาลงทุนประกอบกิจการทั้ง 2 ประเภทในไทยจริง จะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างมาก

 

สำหรับการเข้ามาผลิตรถยนต์อีโคคาร์ในไทยของโฟล์กนั้น เชื่อว่า จะช่วยเติมเต็มอุตสาหกรรมผลิตอีโคคาร์ของไทยได้ครบทุกระดับ เพราะอีโคคาร์ของโฟล์กจะมีราคาสูงกว่าอีโคคาร์ของค่ายรถยนต์อื่นๆ และยังช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีโคคาร์ของเอเชีย โดยที่ผ่านมาโฟล์กก็ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาแล้ว ส่วนการเข้ามาลงทุนเหมืองแร่โปแตสเพราะเห็นว่า ไทยมีแร่ชนิดดังกล่าวมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งอยู่ใต้ดินแต่ไม่ได้นำออกมาใช้ประโยชน์ได้มาก จึงสนใจเข้าประกอบกิจการที่จังหวัดชัยภูมิ เพราะเป็นแหล่งแร่โปแตสอาเซียน โดยเฉพาะการผลิตเป็นแม่ปุ๋ย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ไทยมีผลิตภัณฑ์จากโปแตสเข้าไปตีตลาดในภูมิภาคได้ในอนาคต

 

“ตอนนี้จะรอให้เอกชนเข้ามาไม่ได้ จึงต้องไปหาเขาและดึงเข้ามาลงทุนในไทย โดยในรายของโฟล์ก ที่ผ่านมาเขาก็มีคนจีบอยู่หลายประเทศ และทุกประเทศก็มีบีโอไอเหมือนไทย ดังนั้น เมื่อเห็นว่าสนใจเข้ามาลงทุนผลิตอีโคคาร์ในไทย ซึ่งอาจจะมีราคาเพิ่มขั้นมาหน่อย แต่ก็ช่วยเติมเต็มให้ครบความต้องการรถชนิดนี้ได้ทุกระดับ ส่วนเหมืองแร่โปแตส เยอรมันก็สนใจเข้ามาเป็นหุ้นส่วน แม้คนจะกลัวกันว่าขุดมาแล้วเดี๋ยวดินทรุดและกลัวว่าเมื่อเอาแร่ไปใช้หมดเหลือแต่เกลือ ซึ่งผสมอยู่กับแรงตอนขุดขึ้นมาแล้วจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ก็ขอสบายใจได้ เยอรมันมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด สะอาดที่สุด จึงต้องไปดู แล้วค่อยมาอธิบายให้ ครม.เข้าใจว่าสิ่งที่จะทำไม่มีผลเสียเกิดขึ้น” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

 

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเยอรมนียังอยากให้การเจรจาการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรปเสร็จสิ้นโดยเร็ว และยังแสดงความสนใจในการประมูลโครงการรถไฟรางคู่ของไทย ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งรองนายกฯ และเอกอัครราชทูตฯ เห็นร่วมกันว่า การมีส่วนร่วมในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบคมนาคมขนส่งของไทย จะช่วยเพิ่มประโยชน์ทางด้านการลงทุนให้ไทยและเยอรมนีได้ในอนาคต

 

ที่มา : เดลินิวส์