VEHICLES

ผลวิจัย ชี้ ประเทศจีนปลอมชิ้นส่วนยานยนต์ฯ มากที่สุดในโลก
POSTED ON 22/09/2557


ข่าวยานยนต์ - บริษัท Ipsos Business Consulting ผู้นำในด้านปรึกษาทางธุรกิจ เผยแพร่งานวิจัยในหัวข้อ "แนวโน้มในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศจีน" มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในจีนปรับปรุงกระบวนการการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงจากสินค้าเลียนแบบที่เชื่อว่าจะจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ขยายตัว 2 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

นายมาร์คัส เชียเรอร์ หัวหน้าฝ่ายให้คำปรึกษา Ipsos Business Consulting กล่าวว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่โอกาสเหล่านี้มาพร้อมกับความเสี่ยง เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์เลียนแบบมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก แต่บริษัทต่างชาตินั้นได้เปรียบจากการที่ได้เริ่มต้นกระบวนการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาและอาจใช้กระบวนการนี้เพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งปัจจุบันก็ถือว่าไม่น้อยกับสัดส่วน 33% ในขณะที่จำนวนบริษัทนั้นมีแค่ 1 ใน 5 ของผู้ผลิตทั้งหมด

 

ทั้งนี้ คาดว่าตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศจีนคาดว่าจะเติบโต 20% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้าเนื่องด้วยแรงผลักดันจากความต้องการรถใหม่ และการเติบโตของตลาดรถมือสอง และขณะที่มีรถอยู่บนท้องถนนในจีนมากกว่า 100 ล้านคัน ซึ่งผลักดันให้ชิ้นส่วนยานยนต์เลียนแบบเติบโตขึ้นอย่างมาก

 

ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลกลางเตรียมใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฉบับใหม่ แต่การประยุกต์ใช้และการบังคับใช้ยังไม่สอดคล้องและไม่เพียงพอในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น เป็นผลให้ผู้ผลิตจะต้องพัฒนาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นมาตรฐานและปฏิบัติได้จริง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสินค้าเลียนแบบซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดมีการขยายตัว

 

ด้าน นายสรรค์พิจิตร ส่งไพศาล ผู้จัดการ Ipsos Business Consulting ประจำสาขาประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการชิ้นส่วนชาวไทย และขณะเดียวกันรัฐบาลควรมีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยกว่าในการเป็นแหล่งลงทุนของอุตสาหกรรมที่สามารถปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น เมื่อรวมกับความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีคุณภาพ และมีความแข็งแกร่งในเวทีโลกแล้วจะเป็นการช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี

 

ช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายพยายามที่จะดึงการลงทุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเข้าไทย รวมถึงการดึงผู้ประกอบการจากจีนเอง ตามการขยายตัวของสินค้าจีนที่เข้ามาไทยมากขึ้น รวมไปถึงการดึงผู้ประกอบการประเทศอื่นที่มีปัญหาในจีน ทั้งเรื่องของสินค้าเลียนแบบ และผู้ประกอบที่มีปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศเกิดความขัดแย้ง จากกรณีพิพาทเกี่ยวกับเกาะในทะเลจีนใต้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ