TECHNOLOGY

ครั้งแรกของโลก! กับ ARC Line สายการผลิตรูปแบบใหม่ของฮอนด้า
POSTED ON 22/04/2559


 

เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 22 เม.ย.2559 - บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด พัฒนานวัตกรรมสายการประกอบรถยนต์รูปแบบใหม่ ที่มีสายการผลิตหลักรวมกับระบบการผลิตแบบเซลล์ (Cell Production System) เป็นครั้งแรกของโลก โดยเรียกรูปแบบสายการผลิตนี้ว่า "ARC Line" (Assembly Revolution Cell) และได้เริ่มนำมาใช้ในสายงานการประกอบรถยนต์ (Assembly Line) ที่โรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี เป็นแห่งแรกของโลก โดยได้เริ่มเดินสายการผลิตไปเมื่อเดือน มี.ค.2559 ที่ผ่านมา

 

ARC Line ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้นับเป็นสายการผลิตรูปแบบใหม่ครั้งแรกของโลกที่มีความทันสมัยและโดดเด่น แตกต่างจากระบบสายการผลิตแบบเดิม ด้วยการนำระบบการผลิตแบบเซลล์มารวมไว้ในสายการผลิตหลักเพียงหน่วยเดียว ซึ่งสายการผลิตทั่วไปในปัจจุบันนั้นพนักงานแต่ละคนจะรับผิดชอบการประกอบชิ้นส่วนเพียงขั้นตอนเดียว โดยเป็นการประกอบชิ้นส่วนให้เข้ากับตัวถังรถยนต์ที่เคลื่อนที่มาตามสายพานการผลิต แต่ในทางกลับกันระบบการผลิตแบบเซลล์นั้นพนักงานหนึ่งคนจะรับผิดชอบการผลิตและประกอบชิ้นส่วนในหลายขั้นตอน

 

สำหรับ ARC 1 หน่วยมีพนักงาน 4 คน ทำงานบนสายพานการผลิตที่มีตัวถังรถยนต์ 1 คัน และชิ้นส่วนประกอบครบเซ็ท เพื่อการประกอบให้เข้ากับตัวถังรถยนต์ โดยพนักงานจะประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ในขณะที่สายการผลิตจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเรื่อยๆ พร้อมกับตัวถังรถยนต์ แตกต่างจากระบบสายการผลิตแบบเดิมที่พนักงานจะเลือกชิ้นส่วนประกอบให้ตรงกับรุ่นของรถยนต์คันถัดไปที่ไหลมาตามสายพานการผลิต และต้องเดินไปพร้อมๆ กับตัวถังรถยนต์เพื่อประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านั้น ดังนั้น สายการผลิตแบบ ARC Line จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการลดการเคลื่อนไหวที่สูญเปล่าของพนักงานในสายการผลิตในขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วน

 

นอกจากนี้ สายการผลิตแบบ ARC Line พนักงานหนึ่งคนจะรับผิดชอบการผลิตและประกอบชิ้นส่วนในหลายขั้นตอน จึงทำให้พนักงานได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการผลิตได้รอบด้านมากยิ่งขึ้น นับเป็นการพัฒนาบุคลากรในสายการผลิตให้มีความเชี่ยวชาญ และสามารถเสนอแนะความเห็นจากทีมการผลิตไปสู่ทีมการพัฒนาได้ในอนาคต

 

สำหรับเทคโนโลยีสำคัญที่ฮอนด้าได้นำมาใช้ใน ARC Line ประกอบด้วย

 

ARC Unit : ARC 1 หน่วย ประกอบด้วย การทำงานของสายพานการผลิตที่เคลื่อนที่ไปพร้อมกับตัวถังรถยนต์ที่ยึดติดอยู่บนแพลตฟอร์ม ชิ้นส่วนประกอบตัวถัง และพื้นที่การทำงานสำหรับพนักงานแต่ละคนประจำหน่วย สายการทำงานของพนักงานแต่ละคนจึงไม่ทับซ้อนกัน ทำให้พนักงานทั้ง 4 คนสามารถประกอบชิ้นส่วนของรถยนต์หนึ่งคันได้พร้อมๆ กัน ช่วยลดการเคลื่อนไหวที่สูญเปล่าของพนักงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับสายการผลิตแบบเดิม 

 

สำหรับการจัดส่งชิ้นส่วนนั้น สายพานการผลิตมีรูปร่างที่เป็นลักษณะวงกลม ทำให้สามารถลำเลียงกล่องบรรจุชิ้นส่วนเข้าสู่ต้นสายการประกอบ และเก็บกล่องเปล่าที่ปลายสายการประกอบได้ในจุดเดียวกัน จึงช่วยลดจุดการรับและส่งชิ้นส่วนเข้าสู่สายการประกอบ และลดการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการรับและส่งชิ้นส่วนภายในโรงงานได้ประมาณ 10%

 

โดย ARC ในแต่ละหน่วยยังสามารถเพิ่มเข้าไปในสายการผลิตได้ จึงทำให้โรงงานสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของสายการผลิตให้มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ตามแผนการผลิตในอนาคต รวมถึงการเพิ่มรุ่นการผลิตได้อีกด้วย

 

ระบบพลูโต (Proficiency Learning and Ushering Target for Operator - PLUTO System) : ระบบพลูโตเป็นระบบรองรับการบริหารและการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรักษาระดับทักษะของพนักงานในสายการผลิตแบบ ARC Line ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพการประกอบรถยนต์ในระดับสูง โดย ARC แต่ละหน่วยได้รับการติดตั้งอุปกรณ์แทบเล็ตในพื้นที่การทำงานที่มีระบบให้คำแนะนำในรูปแบบภาพและเสียง เช่น การชี้แนะลำดับการประกอบชิ้นส่วนที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของพนักงานที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญ

 

ทั้งนี้ พนักงานตรวจสอบคุณภาพจะสามารถตรวจสอบรถยนต์แต่ละคันได้ทันทีที่ Q-GATE ซึ่งเป็นพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพที่อยู่ถัดจาก ARC Line ซึ่งสามารถแสดงข้อผิดพลาดในการประกอบได้ทันที เมื่อพบข้อผิดพลาดในการประกอบ โดยระบบจะส่งผลการตรวจสอบกลับไปยังพนักงานผู้รับผิดชอบในสายการผลิต และถ้ามีข้อผิดพลาดใดเกิดขึ้น ระบบจะแสดงข้อความเตือนบนหน้าจอ เมื่อพนักงานเปิดระบบการทำงานสำหรับการประกอบรถยนต์คันถัดไป

 

ระบบ DiSC (Distribution Set-pack Control) : ระบบ DiSC จะทำงานร่วมกันกับการวางแผนการผลิตในการจัดส่งชิ้นส่วนประกอบไปยังพนักงานในสายการผลิตแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม ภายในสายงานการควบคุมการรับและส่งชิ้นส่วน ที่อยู่ติดกับ ARC Line เมื่อพนักงานจัดเตรียมชิ้นส่วนประกอบสำหรับรถยนต์คันถัดไป สัญญาณไฟที่ชั้นเก็บชิ้นส่วนจะสว่างขึ้น เพื่อแสดงถึงตำแหน่งของชิ้นส่วนที่จำเป็นในการประกอบ ระบบนี้ช่วยให้การจัดเตรียมชิ้นส่วนเพื่อส่งเข้าสู่สายการผลิตได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ และสามารถรองรับการประกอบรถยนต์หลากหลายรุ่นได้พร้อมๆ กันอีกด้วย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics