TECHNOLOGY

"ยูมิ" หุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีความปลอดภัยใหม่ล่าสุดของโลก
POSTED ON 20/11/2558


 

เทคโนโลยีอุตสาหกรรม - บริษัท เอบีบี ไทยแลนด์ จำกัด เปิดตัวหุ่นยนต์ "ยูมิ" (YuMi) หุ่นยนต์นวัตกรรมใหม่แบบ 2 แขนกล เทคโนโลยีความปลอดภัยใหม่ล่าสุดของโลก ตอบโจทย์การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถทำงานได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การผลิตโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

จากอดีตการนำหุ่นยนต์มาใช้ อาจเผชิญกับข้อจำกัดด้านความปลอดภัย เนื่องจากหุ่นยนต์จะทำงานและเคลื่อนที่เร็ว อาจกระทบกระทั่งกับมนุษย์จนเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้ แต่หุ่นยนต์ยูมิสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ และถือเป็นหุ่นยนต์นวัตกรรมตัวแรกของโลกที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างเป็นมิตร ช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่พนักงานในกระบวนการผลิตมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมีความปลอดภัยในการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ ผู้ประกอบการจึงไม่จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ล้อมหุ่นยนต์หรือมีอุปกรณ์ป้องกันภัยต่างๆ ซึ่งนั่นจะช่วยการประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่ายลงได้อีกมาก

 

หุ่นยนต์ยูมิสามารถหยิบจับสิ่งของได้เหมือนมนุษย์ ทั้งยังประหยัดพื้นที่ในการทำงานและติดตั้ง และเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรทั่วไปแล้วยูมิมีระบบการทำงานที่ง่ายกว่ามาก นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยูมิยังสามารถทำงานด้วยความแม่นยำสูง จัดการกับสิ่งที่มีความละเอียดอ่อนและมีขนาดเล็กได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกลไกของนาฬิกาข้อมือไปจนถึงชิ้นส่วนภายในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความผิดพลาดน้อย ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี  

 

นายชัยยศ ปิยะวรรณรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว บริษัท เอบีบี จำกัด เปิดเผยว่า การเปิดตัวหุ่นยนต์ยูมิในไทยครั้งนี้ถือเป็นประเทศแรกๆ ของภูมิภาคอาเซียน โดยแนวทางการทำตลาดของหุ่นยนต์ยูมินั้นจะโฟกัสไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเข้าไปให้บริการลูกค้าทดลองใช้งานตามความต้องการของลูกค้า (เทเลอร์ เมด) แต่ทั้งนี้บริษัทฯยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายด้านยอดขาย เพราะในช่วงแรกนี้ต้องการสร้างให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับการใช้งานมากกว่าว่าหุ่นยนต์จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างไร

 

"สำหรับตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศไทยนั้นมีมูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ตัวต่อปี อีกทั้งยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และขยายไปยังอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ในการหยิบจับเพื่อความสะอาดและปลอดภัย ซึ่งในอดีตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะมีการใช้งานที่จำกัดเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตชิ้นส่วนฯเท่านั้น" นายชัยยศ กล่าว

 

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics