TECHNOLOGY

Universal Robots รุกตลาดหุ่นยนต์อุตฯ ขนาดเล็กในไทย
POSTED ON 05/11/2556


 

ข่าวเทคโนโลยี - ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ เตรียมรุกตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดเล็กในไทย เดินหน้าแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายหุ่นยนต์เพิ่มอีก 2 ราย เน้นแนวทางหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ลงทุนต่ำ คืนผลตอบแทนเร็ว และใช้งานได้หลากหลาย ด้วยหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม รุ่น UR5 และ UR10

 

บริษัท ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ จำกัด ผู้ผลิตนวัตกรรมหุ่นยนต์ระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เข้าถึงทุกระดับการใช้งาน นับตั้งแต่ปี 2009 ที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรม UR ได้ออกสู่ตลาดครั้งแรก ทำให้บริษัทฯ สามารถขยายกิจการไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะจำหน่ายหุ่นยนต์ได้มากถึง 800 – 1,000 ตัวทั่วโลก

 

นางเชอร์ไมน์ ก็อตเฟรดเซ็น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน เผยว่า ที่ผ่านมามักจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานด้วยหุ่นยนต์ มักจะมีราคาแพง ขนาดใหญ่ อันตราย และโปรแกรมใช้งานยาก ซึ่งแตกต่างจากสินค้าของเรา หุ่นยนต์อุตสาหกรรม รุ่น UR5 และ UR10 ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน และไม่จำเป็นต้องติดตั้งแผ่นป้องกัน สามารถเคลื่อนย้ายไปตามจุดต่างๆ ได้ง่าย รวมทั้งมีหน้าจอควบคุมการใช้งานแบบกราฟิก ทำให้ผู้ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อนสามารถติดตั้งและสั่งงานได้สะดวก

 

หลังดำเนินธุรกิจในมาได้เกือบ 2 ปี การขยายตัวการใช้หุ่นยนต์และผลตอบรับที่ดีจากบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ทำให้ยูนิเวอร์แซล โรบอท ได้ลงนามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในไทยเพิ่มอีก 2 ราย คือ บริษัท M.I.A.C Automation และ T.J. Solution เพิ่มขึ้น จากตัวแทนจำหน่ายเดิมที่มีอยู่คือ SP Vision Technology เพื่อนำเสนอโซลูชั่นต่อตลาดไทย

 

ความโดดเด่นของ UR5 – UR10

 

สินค้าตัวแรกของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ คือ หุ่นยนต์ UR5 แขนกลแบบ 6 ข้อต่อ มีน้ำหนัก 18 กิโลกรัม สามารถยกน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม และมีรัศมีการทำงานกว้าง 85 เซนติเมตร ทั้งนี้ UR5 ยังได้รับการโหวตให้เป็นหุ่นยนต์ที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก โดยสหพันธ์หุ่นยนต์ระหว่างประเทศ และสมาคมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ IEEE และเพื่อขยายความสำเร็จบริษัทฯ จึงได้เปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ UR10 ออกมาในปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับงานผลิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

 

UR5 ใช้เทคโนโลยีที่มีการจดสิทธิบัตรพิเศษ วัดปริมาณกระแสไฟฟ้าในข้อต่อเพื่อกำหนดแรงที่กระทำการเคลื่อนไหว ทำให้สินค้ามีราคาต่ำกว่าของผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถหันมาใช้งานระบบอัตโนมัติในการผลิตได้ เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง มีระยะเวลาในการคืนทุนเพียง 12-15 เดือน

 

ในปี 2012 ได้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือ UR10 ที่สามารถยกน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม มีรัศมีการทำงานกว้าง 130 เซนติเมตร ได้รับการออกแบบมาให้ใช้ติดตั้งง่าย สะดวก และยืดหยุ่น

 

ด้านโปรแกรมที่ใช้นั้น ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เพราะมีระบบสั่งการในแบบที่ผู้ใช้งานสามารถคาดเดาได้ด้วยตนเอง และสามารถตั้งโปรแกรมหุ่นยนต์ได้เอง การสั่งงานสามารถทำได้รวดเร็วและไม่ซับซ้อน ระบบการเชื่อมต่อไฟฟ้าสามารถใช้งานได้กับอุปกรณ์เซ็นเซอร์อุตสาหกรรม และ PLC ที่ใช้งานอยู่ทั่วไป

 

โดยทั้ง 2 รุ่น จะประกอบไปด้วยแขนหุ่นยนต์ จอทัชสกรีน และหน้าจอใช้งานแบบกราฟิกรวมทั้งกล่องควบคุม ใช้งานได้โดยทีมงานเทคนิคในสายการผลิต ทำงานได้อย่างอิสระไม่ต้องมอนิเตอร์ติดตามระหว่างทำงาน สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน เพราะตัวเครื่องเป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนด 5.10.5 ของมาตรฐานอุตสาหกรรม EN ISO10218-1:2006 ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีความปลอดภัย โดยในทันทีที่ตัวพนักงานสัมผัสหรือกระทบกับหุ่นยนต์ ด้วยแรงที่มากกว่า 150 นิวตัน ตัวแขนหุ่นยนต์จะสั่งหยุดการทำงานทันที ทำให้หุ่นยนต์ดังกล่าวเหมาะสำหรับพื้นที่การที่ผลิตที่มีความจำกัด ซึ่งทางศูนย์การทดสอบวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีเดนมาร์กยังได้ยืนยันการทดสอบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้ในระบบที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างคนและหุ่นยนต์อีกด้วย

 

หุ่นยนต์รุ่น UR5 และ UR10 สามารถนำไปใช้งานได้หลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมโลหะ ยางและพลาสติก ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม ยา และเภสัชกรรม

 

ทิศทางแขนกลอุตสาหกรรม

 

นางเชอร์ไมน์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มให้ความสนใจในระบบอัตโนมัติมากขึ้น หลายประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการออกกฎระเบียบจากภาครัฐ เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้งานให้มีความปลอดภัย ส่งผลให้ตลาดในกลุ่มนี้มีความต้องการสูงขึ้น โดยความต้องการส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขนาดของเครื่องต้องไม่ใหญ่มาก ใช้พื้นที่โรงงานงานน้อย ใช้งานง่าย มีระบบความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ การดูแลและบำรุงรักษาไม่ยุ่งยาก ทำให้ในตอนนี้เอเชียมียอดการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสูงที่สุด ประเภทการใช้งานหลักคือ งานจับและงานเชื่อม และใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยอุตสาหกรรมยาง พลาสติก และยาตามลำดับ

 

กลุ่มลูกค้าหลักของเราคือ ประเทศเยอรมัน, เดนมาร์ก และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการสูง ในภาคการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์ในการทำงาน เราสามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดได้กว่า 90% ส่งผลให้การเติบโตชองบริษัทฯ ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมประสบความสำเร็จมากที่สุด ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เราสามารถเติบโตได้มากถึง 38%

 

แผนการดำเนินธุรกิจในไทย

 

ในส่วนของประเทศไทย ที่ผ่านมาเรามีตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียว การดำเนินงานในภาพรวมก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ บริษัทฯจึงเล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ และเป็นหนึ่งประเทศที่ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในปีนี้บริษัทฯจึงได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเพิ่มอีก 2 รายคือ บริษัท M.I.A.C Automation และ T.J. Solution ในอนาคตมีแผนจะเพิ่มเป็น 5 ราย

 

บริษัทฯจะทำการตลาดผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้า การนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ในการผลิตมีข้อดีอย่างไร ผลลัพธ์ที่จะได้ วิธีการหุ่นยนต์ทั้งหมดของเรา และบริการหลังการขาย

 

เป้าหมายการเติบโตในประเทศไทย ผู้บริหารยูนิเวอร์แซล รีบอทส์ เผยว่า “ไทยมีทิศทางการตลาดที่สดใส เหมาะแก่การลงทุน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่บริษัทฯ จะตั้งสำนักงานในประเทศไทย ด้วยความโดดเด่นของสินค้าที่ไม่เหมือนใคร เป็นการสร้างความได้เปรียบให้เราอย่างมาก เราต้องการพัฒนาสินค้าเพื่อเติมเต็มช่องว่างในอุตสาหกรรมต่างๆ เราได้ตั้งเป้าการเติบโตในไทยไว้ที่ 15-20% และหวังว่าประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็น 1 ใน 5 ของการเติบโตทั้งหมดของเรา”