TECHNOLOGY

พลิกโฉมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมด้วยการออกแบบทางวิศวกรรม
POSTED ON 06/07/2558


เทคโนโลยีอุตสาหกรรม - แบล็ค แอนด์ วิชช์ (Black & Veatch) จะออกแบบพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมฮามิทาบัท ของประเทศตุรกี (Hamitabat Combined-Cycle Power Plant, Turkey) ด้วยการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะช่วยพลิกโฉมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยมีก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและกลายเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทั้งนี้ โครงการมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2560

 

กาม่า พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ หรือ กาม่า (GAMA Power Systems - GAMA) บริษัทผู้รับเหมา ได้มอบหมายให้แบล็ค แอนด์ วิชช์ เข้ามาทำหน้าที่ในการปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมแบบ 2-on-1 จำนวน 4 หน่วยที่ถูกใช้งานตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2523  มาเป็นโรงไฟฟ้า พลังความร้อนร่วมแบบเพลาเดียว จำนวน 2 หน่วย ซึ่งจะใช้กังหันก๊าซของซีเมนส์ รุ่น 50 เฮิร์ตซ์ เอช คลาส (Siemens 50 Hz H-class) ล่าสุดร่วมกับระบบกังหันไอน้ำแบบใหม่ในการผลิตพลังงานรวมราว 1,200 เมกะวัตต์ โดยการปรับเปลี่ยนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าและช่วยลดความซับซ้อนในการเดินเครื่อง

 

นายจอห์น ฮิวจ์ ผู้อำนวยการโครงการธุรกิจพลังงานของแบล็ค แอนด์ วิชช์ กล่าวว่า “เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าฮามิทาบัทในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 38% เป็น 62% ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับโรงไฟฟ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่อเมกะวัตต์ที่น้อยกว่า ส่งผลประโยชน์โดยตรงในด้านการเงินและสิ่งแวดล้อม”

 

แบล็ค แอนด์ วิชช์ ได้ทำการออกแบบทางด้านวิศวกรรม และการจัดทำข้อกำหนดทางดด้านเทคนิคเพื่อการจัดซื้อในระหว่างขั้นตอนการออกแบบ ซึ่งอาจรวมถึงความรับผิดชอบในส่วนวิศวกรรมที่หน้างานในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง

 

“เราได้นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้านการออกแบบโรงไฟฟ้าพลังความร้านร่วม จากทีมงานทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามาดำเนินการอย่างทุ่มเทในโครงการนี้” นายฤาชัย ละกำปั่น ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม กล่าว “ราว 70% ของพื้นที่ในประเทศไทยมาจากการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงธรรมชาติ และวิศวกรประจำสำนักงานในกรุงเทพฯ ได้ทำหน้าที่พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค”

 

แบล็ค แอนด์ วิชช์ เริ่มดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2503 มีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการด้านพลังงานความร้อนร่วมที่มีก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงโครงการที่ชนะการประกวดราคาอย่าง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเฟส 5 ของ บมจ โกลว์ พลังงาน (Glow Phase 5) และโครงการที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้  อย่างโครงการ จะนะ 2 (Chana 2) และวังน้อย 4 (Wang Noi 4) ซึ่งดำเนินการเสร็จสมบรูณ์ในปี พ.ศ.2557 นอกจากนี้ สำนักงานในประเทศไทยยังได้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการโครงการพลังงานสะอาดอย่าง โครงการ โอเรกอน คลีน อีเนอร์จี้ (Oregon Clean Energy project) ในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกด้วย