TECHNOLOGY

E-Diesel เทคโนโลยีสะอาดจากความร่วมมือของออดี้และซันไฟร์
POSTED ON 06/07/2558


เทคโนโลยีอุตสาหกรรม - "ออดี้" (Audi) ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนี ร่วมกับ "ซันไฟร์" (Sunfire) บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีสะอาด คิดค้นกระบวนการผลิตน้ำมันดีเซลโดยอาศัยคาร์บอนไดออกไซด์ มลพิษสำคัญที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศมาผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอนจนได้น้ำมันที่สามารถนำมาใช้โดยตรงกับรถยนต์ หรือจะใช้เป็นส่วนผสมร่วมกับน้ำมันดีเซลที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบทั่วไปก็ได้

 

น้ำมันดีเซลจากกระบวนการใหม่ที่ได้ชื่อว่า "อี-ดีเซล" (E-Diesel) ผลิตออกมาครั้งแรกที่ห้องปฏิบัติการวิจัยของออดี้ที่เมืองเดรสเดน  ประเทศเยอรมนี โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า "เพาเวอร์ ทู ลิควิด" (Power-to-Liquids) ซึ่งซันไฟร์เป็นผู้คิดค้นขึ้น กระบวนการดังกล่าวนี้ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์และเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งมีอยู่มากมายในอากาศทั่วไป นำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้ได้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าและมีมลพิษน้อยกว่าออกมา

 

นายคริสเตียน ฟอน โอลสเฮาเซน วิศวกรของซันไฟร์ เปิดเผยว่า "อี-ดีเซล แตกต่างอย่างสำคัญจากน้ำมันดีเซลที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบตรงที่ไม่มีซัลเฟอร์หรือกำมะถัน และสารปนเปื้อนในธรรมชาติอื่นๆ เจือปนอยู่ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ น้ำมันที่ทำให้เครื่องยนต์เดินเงียบกว่าเดิม และก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงกว่าเดิม"

 

กระบวนการผลิตอี-ดีเซลเป็นกระบวนการ 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นการให้ความร้อนแก่ไอน้ำ จนอุณหภูมิสูงถึงระดับเกินกว่า 800 องศาเซลเซียส ขึ้นไป เพื่อให้แตกตัวออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน วิศวกรของซันไฟร์เลือกใช้พลังงานสะอาดอย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมในการเผาไอน้ำ เพื่อให้กระบวนการผลิตปล่อยมลภาวะออกสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย

 

ในขั้นตอนที่ 2 ไฮโดรเจนที่ได้จากขั้นตอนแรกจะถูกส่งเข้าสู่ห้องผสม เพื่อผสมกับคาร์บอนไดออกไซด์ในสภาพแรงกดดันสูงและอุณหภูมิสูง ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการในขั้นตอนนี้คือสารไฮโดรคาร์บอนที่ถูกเรียกว่า "บลู ครูด" (blue crude) หรือ "น้ำมันดิบสีฟ้า" ที่พร้อมจัดส่งเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบเดียวกับที่ใช้กลั่นน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมันทั่วไปนั่นเอง

 

ออดี้ยืนยันว่าเชื้อเพลิงที่ได้จากกระบวนการ 3 ขั้นตอนดังกล่าวได้รับการทดสอบประสิทธิภาพในห้องทดลองแล้ว พบว่า สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ทั่วไปได้โดยตรง หรือจะใช้เป็นส่วนผสมเพื่อลดการใช้น้ำมันที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบลงก็ได้เช่นเดียวกัน

 

ด้าน นายโยฮันนา แวงก้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพื่อการศึกษาและวิจัยของเยอรมนี ได้ร่วมทดสอบประสิทธิภาพของอี-ดีเซล โดยการนำอี-ดีเซลเติมลงไปในรถประจำตำแหน่งของตนเอง แล้วทดลองขับ ก่อนประกาศว่าโครงการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยกระบวนการใหม่นี้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการช่วยคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ถือเป็นการปูรากฐานให้กับเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต

 

ที่มา : มติชน