TECHNOLOGY

พระนครเหนือ ผุด ต้นแบบโรงไฟฟ้าก๊าซผสม
POSTED ON 03/06/2558


เทคโนโลยีอุตสาหกรรม - นายอัมพร แสงสุกดี ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ กฟผ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2558 ที่ผ่านมา กฟผ.ได้เริ่มนำร่องใช้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 มาทดลองเดินเครื่องด้วยก๊าซจากอ่าวไทยแทนก๊าซเมียนมาร์ไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ก๊าซเมียนมาร์ปิดซ่อม ผลปรากฏว่าไม่เกิดผลกระทบแต่อย่างใดกับโรงไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยผ่านพ้นวิกฤติก๊าซในปี 2558 นี้มาได้ โดยนับเป็นครั้งแรกที่โรงไฟฟ้าในไทยสามารถใช้ก๊าซได้จากทั้งอ่าวไทยและเมียนมาร์"

 

นอกจากนี้ กฟผ.ยังเตรียมปรับโรงไฟฟ้าวังน้อย พระนครใต้ รวมถึงโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 ให้สามารถใช้ก๊าซได้ทั้งสองฝั่ง ซึ่งในอนาคตจะนำก๊าซฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกมาผสมกัน และป้อนเข้าโรงไฟฟ้าต่อไป ดังนั้น ในอนาคตหากก๊าซเมียนมาร์ปิดซ่อมบำรุงก็จะไม่กระทบต่อโรงไฟฟ้าก๊าซของ กฟผ. ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ และเพิ่มความมั่นคงไฟฟ้าในประเทศได้มากขึ้น

 

สำหรับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ก่อสร้างมาได้กว่า 5 ปี โดยเริ่มสร้างตั้งแต่เดือน ธ.ค.2549 และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2553 ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 15,000 ล้านบาท ตั้งอยู่บนเนื้อที่ กฟผ. อ.บางกรวย ริมแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 70 ไร่ เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับประชาชนที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีกำลังผลิตติดตั้ง 723 เมกะวัตต์ แต่มีการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญา 670 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี

 

ความพิเศษของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 นี้จะมุ่งเน้นประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ที่สำคัญยังมีการสร้างอาคารครอบตัวโรงไฟฟ้าเพื่อให้สบายตาแก่ผู้พบเห็น ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้าสมัยก่อนที่จะเปิดโล่งมองเห็นอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าที่อาจทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกหวาดกลัวได้ ดังนั้น หากมองจากภายนอกบางคนอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเป็นโรงไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าแห่งนี้มุ่งเน้นการดูแลมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูง เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในเขตเมืองหลวงที่มีประชากรมาก และจะต้องเป็นต้นแบบที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับชุมชน ตามสโลแกน "โรงไฟฟ้าสมรรถนะสูงที่อยู่ร่วมชุมชนอย่างยั่งยืน" โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมทั้งคุณภาพน้ำ อากาศ เสียง และกากของเสีย

 

สำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศนั้น มีการติดตั้งระบบติดตามวัดมลพิษแบบต่อเนื่อง และรายงานผลตรวจวัดไปยังกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งจะแสดงผลที่ป้ายไฟด้านโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและย่านแหล่งชุมชนใกล้เคียงด้วย เพื่อช่วยกันตรวจสอบและเป็นการยืนยันถึงสภาพอากาศที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าด้วย

 

ส่วนคุณภาพเสียงที่ออกจากโรงไฟฟ้านั้น ได้มีการติดตั้งชุดอุปกรณ์ลดระดับเสียง และควบคุมเสียงไม่ให้เกิน 90 เดซิเบล และมีเครื่องตรวจวัดเสียงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คุณภาพน้ำก็ได้มีการบำบัดก่อนส่งเข้าบ่อพักน้ำเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในโรงไฟฟ้า เช่น รดน้ำต้นไม้และล้างถนน เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งหลังบำบัดแล้วจะปล่อยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะควบคุมทั้งคุณภาพน้ำให้มีสภาพที่ดีรวมทั้งการปล่อยน้ำออกไปต้องมีอุณหภูมิแตกต่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกิน 2 องศา

 

นอกจากนี้ ในส่วนของกากของเสียจากโรงไฟฟ้า ซึ่งออกมาจากแผ่นไส้กรองอากาศ จากน้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเบนซินที่ใช้แล้ว ทาง กฟผ.จะส่งให้กับบริษัทที่ได้รับอนุญาตกำจัดกากของเสีย ที่รายงานการนำเข้า-ส่งออกกากของเสียกับกรมโรงงานเป็นประจำ ส่วนขยะทั่วไปนั้นจะส่งให้ส่วนกลางของ กฟผ.เพื่อรวบรวมส่งให้เทศบาลกำจัดขยะที่บางกรวยต่อไป ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่ามาตรการดูแลความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 มีการตรวจสอบและดำเนินการอย่างเป็นระบบเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในอนาคตต่อไป

 

และเพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมดูแลความปลอดภัยจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้น ระหว่างผู้ว่าราชการจัดหวัดนนทบุรี ตัวแทนจาก กฟผ. และตัวแทนชุมชนแต่ละเขตรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งจะประชุมร่วมกันทุก 4 เดือน เพื่อช่วยกันเตือนภัยและดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้าอีกด้วย

 

ส่วนการดูแลคุณภาพโรงไฟฟ้านั้น ทาง กฟผ.จะทำการตรวจซ่อมเมื่อเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าครบ 8,000 ชั่วโมง โดยจะปิดซ่อมไม่เกิน 10 วัน และเมื่อครบอายุ 3 ปี จะซ่อมครั้งใหญ่ 30 วัน จากนั้นเมื่อครบ 6 ปี จะซ่อมใหญ่อีกครั้ง 40 วัน ซึ่งจะตรวจเช็คเกือบทุกอย่าง เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องผลิตไฟฟ้าจะต้องพร้อมใช้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

ด้าน นายยงยุทธ ปรีชม ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ กล่าวว่า นอกจากนี้ กฟผ.ยังเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 กำลังผลิตอีก 850 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้วกว่า 90% และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ประมาณเดือน ม.ค.2559 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเพิ่มขึ้น 3-4% ต่อปี ตามการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ กลับมีข้อจำกัดไม่สามารถขยายหรือสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มได้อีกแล้ว เนื่องจากที่ดินหายากขึ้น และเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่เกินกว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าได้

 

ปัจจุบันพบว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของกรุงเทพฯ เองมีเพียง 70 ล้านหน่วย ขณะที่ความต้องการใช้มีถึง 190 ล้านหน่วย หรือ 30% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องดึงไฟฟ้าจากภาคกลางในจังหวัดอื่นๆ มาทดแทน โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง ดังนั้น จึงจำเป็นที่ กฟผ.ต้องสร้างโรงไฟฟ้าในภาคกลางเพิ่มขึ้น

 

การสร้างโรงไฟฟ้าในเขตเมืองนับเป็นเรื่องยากมากในยุคปัจจุบัน แต่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ก็สามารถฝ่าอุปสรรคต่างๆ และอยู่ได้มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จึงนับเป็นความท้าทายของ กฟผ.ที่ต้องดูแลให้มีมาตรฐานสูงสุดเท่าที่ทำได้ เนื่องจากเป็นต้นแบบให้คนเมืองพิจารณาว่าจะยอมรับโรงไฟฟ้าที่จะตามมาได้อีกหรือไม่ ท่ามกลางความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปีของประเทศไทย และหากดูแลได้อย่างดีไม่เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตลอดอายุโรงไฟฟ้า เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ เกิดความเชื่อมั่นและอยู่กับโรงไฟฟ้าได้ในอนาคตต่อไป