TECHNOLOGY

มหกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีอุตฯ โชว์นวัตกรรมสุดล้ำ
POSTED ON 05/11/2556


 

ข่าวเทคโนโลยี - สถาบันไทย-เยอรมัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมจัดงานมหกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ SITEX 2013 ณ อุทยานการเรียนรู้อุตสาหกรรมสนับสนุน สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “ร่วมแรง ร้อยใจ นำอุตสาหกรรมไทยสู่สากล” เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตเครื่องจักรต้นแบบในประเทศไทย รวมทั้งต่อยอดเทคโนโลยีของคนไทย และเปิดช่องทางการตลาดใหม่ๆ สำหรับอุตฯ ไทย

 

ภายในงานมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย อาทิ การจัดแสดงเครื่องจักรต้นแบบฝีมือคนไทยกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ การจัดแสดงผลงานทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมกว่า 100 เรื่อง นิทรรศการอุตสาหกรรมสีเขียว การสาธิตการฉีดพลาสติกชีวภาพ และบูธให้คำปรึกษาทางธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงการเปิดตัวหลักสูตร Robotics Academy ซึ่งเป็นหลักสูตร ฝึกอบรมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์เป็นองค์ประกอบหลัก

 

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า งานมหกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ SITEX 2013 เป็นการบูรณาการผลงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันพลาสติก และสถาบันไทย-เยอรมัน และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสมาคมเครือข่ายกว่า 14 สถาบัน เช่น สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ฯลฯ ด้วยเห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทียบเท่านานาอารยประเทศได้ กสอ. จึงส่งเสริมการยกระดับนวัตกรรมเครื่องจักรกลในภาคการผลิตทั้งอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อหวังให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถของเครื่องจักรกลในภาคอุตสาหกรรมไทย

 

ทั้งนี้ ภายในงาน SITEX 2013 ได้มีการเปิดตัวความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม Robot Academy ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางการตลาดทางใหม่ๆ และเสริมสร้างบรรยากาศให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางด้านการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัว หุ่นยนต์ดินสอ รุ่น 2 หรือเรียกว่าหุ่นยนต์รุ่นมินิ สัญชาติไทย โดยบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์แห่งแรกของไทย

 

ด้าน นายมานพ ทองแสง ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ สถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวเพิ่มเติมว่า Robotics Academy เป็นหลักสูตรฝึกอบรมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์เป็นองค์ประกอบหลัก รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำการออกแบบและสร้างระบบเองภายในโรงงาน เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการผลิต

 

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน บริษัท Sanmai Mechanical ประเทศญี่ปุ่น และองค์กรภาครัฐ HIDA ของประเทศญี่ปุ่น ในการจัดตั้งหลักสูตร Robotics Academy ขึ้น โดยประเทศญี่ปุ่นสนับสนุนให้ยืมหุ่นยนต์ยอดนิยมของญี่ปุ่น 2 ยี่ห้อ คือ  Fanuc และ Yasakawa เป็นต้นแบบในการนำมาฝึกอบรม

 

ปัจจุบัน เปิดการฝึกอบรม 4 หลักสูตร ได้แก่ 1 Robot Yasakawa Programming Basic Level 2 Robot FanacProgramming Basic Level 3 Robot Yasakawa Maintenance & Trouble Shooting และ 4 Robot Fanac Maintenance & Trouble Shooting ใช้เวลาเรียนประมาณ 3-4 วัน วันละ 7 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละหลักสูตรมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่นำไปใช้โดยคาดหวังว่าจะสามารถเปิดหลักสูตรในระดับขั้น Intermediate และ Application ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของหลักสูตรต่อไป ทั้งนี้ในการฝึกอบรม เมื่อผู้เรียนจบหลักสูตรที่กำหนดจะมีการมอบประกาศนียบัตรรับรองเพื่อเป็นใบเบิกทางในการปฏิบัติงาน และใช้ต่อยอดในการพัฒนาบุคลากรในระดับสูงขึ้นต่อไป

 

นายเฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับหุ่นยนต์ดินสอรุ่น 2 ใช้งบประมาณในการลงทุนและวิจัยกว่า 20 ล้านบาท โดยหุ่นยนต์ดินสอรุ่น 2 พัฒนาต่อยอดจากหุ่นยนต์ดินสอรุ่น 1 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์บริการตัวแรกของไทยที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552

 

ทั้งนี้ หุ่นยนต์รุ่น 2 หรือหุ่นยนต์มินิ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น โดยผู้ผลิตได้เพิ่มฟังชั่นการทำงานให้สามารถตอบสนองต่อกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อาทิ แขนกลที่ออกแบบให้เลียนแบบกล้ามเนื้อของมนุษย์ด้วยการใช้เส้นสลิงค์ในการควบคุมการเคลื่อนที่สามารถพับงอได้ 7 จุดต่อ 1 แขน สามารถเสิร์ฟอาหาร หยิบของ รวมถึงไหว้ และโบกมือได้ เป็นต้น

 

ความสามารถพิเศษอีกประการของหุ่นยนต์ดินสอรุ่น 2 คือ สามารถโทรศัพท์ได้ โดยสามารถบันทึกรายชื่อผู้ที่ต้องการติดต่อในระบบฐานข้อมูลได้ ตลอดจนมีนวัตกรรมใหม่ที่ชื่อ DinsowSpond ซึ่งเป็นระบบเรียกให้โทรกลับเพื่อให้แพทย์หรือญาติผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับได้อย่างรวดเร็วผ่านโทรศัพท์มือถือ iPhone และโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android