TECHNOLOGY

เปิดตัว ?กังหันลมแนวนอนขนาด 1 กิโลวัตต์? รายแรกของไทย
POSTED ON 09/04/2558


 

เทคโนโลยีอุตสาหกรรม - ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและสนใจในการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น หนึ่งในพลังงานทดแทนที่สามารถผลิตและหาได้จากธรรมชาติ คือ "พลังงานลม" โดยพลังงานลมเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งในการสนับสนุนพัฒนาให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

 

แต่ปัจจัยที่ค่อนข้างเป็นปัญหาเนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เขตเส้นศูนย์สูตร ทำให้ได้รับแรงลมเฉลี่ยทั้งปีต่ำถึงปานกลาง ดังนั้น การที่จะพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์สำหรับผลิตพลังงานลมจึงมีความจำเป็นต้องศึกษารูปแบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมกับความเร็วลมที่มีอยู่ นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ "พัฒนาสร้างกังหันลมแนวนอนขนาด 1 กิโลวัตต์" ที่วิจัยและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ บริษัท ตะวันออกซินเทค จำกัด

 

ผศ.นิธิ บุรณจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า "ปัญหาที่พบเกี่ยวกับพลังงานลม คือ แต่ละพื้นที่ในประเทศไทยมีความเร็วลมแตกต่างกัน จึงเป็นข้อจำกัดของการใช้กังหันแนวตั้งที่อาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีปริมาณของลมไม่มากและบนอาคารสูง ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ โดย สวท. จึงได้ร่วมกับ บริษัท ตะวันออกซินเทค จำกัด ดำเนินการวิจัยและพัฒนา 'โครงการพัฒนาสร้างกังหันลมแนวนอนขนาด 1 กิโลวัตต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้น' โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยจากสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการทั้งหมด เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ"

 

สำหรับการพัฒนากังหันลมแนวนอนนี้มีขนาด 2 x 6 เมตร (กว้าง x ยาว) ออกแบบและสร้างโดยใช้กังหันลม ESCO Wind Turbine จึงมีคุณสมบัติพิเศษคือการออกแบบเหมาะสมกับสภาพลมในประเทศไทยที่มีความเร็วลมต่ำและลมแปรปรวน สามารถรับลมได้ทุกทิศทาง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อรับลมจากด้านหน้าและหลัง

 

วัสดุที่ใช้สามารถทนต่อสภาพการกัดกร่อนของกรดและไม่เป็นสนิม (Engineering Composite Polymer) อีกทั้งยังมีความปลอดภัยต่อสัตว์ปีก เช่น นก และมีเสียงจากการหมุนของกังหันลมที่ต่ำ น้อยกว่า 20 db/5 meter เหมาะกับโรงเรือนปศุสัตว์ที่ปล่อยลมทิ้งและดาดฟ้าของตึกสูง สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ แนวคิดการออกแบบกังหันลมแนวนอนนี้เน้นการใช้งานบนพื้นราบของอาคารสูงเป็นหลัก โดยใช้พื้นที่ติดตั้งเป็นแนวยาว สูงจากพื้นอาคาร 2-3 เมตร และยังออกแบบมาเพื่อนำไปใช้รับลมหมุนเวียนที่ปล่อยทิ้งมาจากโรงเรือนปศุสัตว์ ซึ่งจะสามารถติดตั้งเจเนอเรเตอร์ได้ด้วย

 

กังหันลมแนวนอนที่ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ติดตั้งง่าย และสามารถขยายผลโดยการส่งเสริมให้มีการใช้ในครัวเรือน ชุมชนขนาดเล็ก ผู้ประกอบการ ครัวเรือน ฟาร์มกังหันลมที่ต้องการใช้พลังงานลมในการผลิตไฟฟ้า ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของตนเองได้อย่างหลากหลาย