TECHNOLOGY

?เครื่องวัดความเผ็ด? นวัตกรรมเพื่ออุตฯอาหารไทย
POSTED ON 26/01/2558


 

ในอุตสาหกรรมอาหาร การวัดระดับความเผ็ดจะมีหน่วยสากลในการวัด คือ หน่วย SHU (Scoville Heat Unit) ซึ่งหน่วยการวัดดังกล่าวมีความสอดคล้องกับปริมาณของสารกลุ่มแคปไซซินอยด์ (Capsaicinoid) ที่มีในพริก การวัดความเผ็ดในปัจจุบันใช้การทดสอบด้วยการชิมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งให้ผลการวัดไม่แน่นอน หรือโดยใช้เครื่องตรวจวัด High Performance Liquid Chromatography (HPLC) แต่เนื่องจากเครื่องดังกล่าวมีราคาแพง กระบวนการตรวจวัดมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน ที่สำคัญต้องทำโดยผู้ชำนาญการเท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

 

นางสาวจตุพร พานทอง นักวิจัยหน่วยงานปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมีและโรงงาน (BEC) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกับ นายวชิรา ชัยวรณ์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน โดยมี รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. พัฒนา "เครื่องวัดความเผ็ด" ภายใต้โครงการการวิจัยและพัฒนาหัวตรวจวัดสารแคปไซซินโดยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าและสร้างดัชนีสัมพันธ์ความเผ็ดเพื่อการบ่งชี้ความเผ็ดในอุตสาหกรรมอาหาร

 

เครื่องวัดความเผ็ดเป็นนวัตกรรมใหม่ในการวัดความเผ็ด ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการในการควบคุม ตรวจสอบ คุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ให้กับภาคอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของไทย

 

ทีมนักวิจัย เปิดเผยว่า เครื่องวัดความเผ็ดได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการควบคุมมาตรฐานการผลิตในแง่ของความเผ็ดที่ให้ผลการวัดได้แม่นยำ ต้นทุนต่ำ ใช้งานง่าย และได้ผลเร็วปัจจุบันได้ถูกนำไปใช้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่มีพริกเป็นตัวประกอบหลัก เช่น อุตสาหกรรมผลิตน้ำพริก เครื่องแกง พริกแห้ง หรือ ซอสพริก เป็นต้น

 

กระบวนการตรวจวัดใช้การวัดปริมาณสารแคปไซซินด้วยหลักการทางเคมีไฟฟ้าเพียงหยดสารสกัดลงบนแผ่นเซนเซอร์ สารแคปไซซินจะเกิดปฏิกิริยาบนผิวหน้าเซนเซอร์ เครื่องวัดจะทำการวิเคราะห์และประมวลผลการวัดค่าความเผ็ดในหน่วย SHU โดยอัตโนมัติ ใช้เวลาวัดเพียง 2 นาที โดยมีการแสดงข้อมูลและการตั้งค่าคำสั่งผ่านหน้าจอตัวเครื่องด้วยระบบสัมผัส และจากการที่แต่ละบริษัทมีความต้องการระดับความเผ็ดของผลิตภัณฑ์ที่ต่างกัน

 

เครื่องวัดความเผ็ดนี้สร้างให้ผู้ใช้งานตั้งระดับความเผ็ดได้ตามต้องการถึง 4 ระดับ คือ ระดับ 1 เผ็ดน้อยที่สุด  ระดับ 2 เผ็ดน้อย ระดับ 3 เผ็ดปานกลาง และ ระดับ 4 เผ็ดมาก ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถทราบว่า วัตถุดิบที่ใช้อยู่มีระดับความเผ็ดได้ตามที่ต้องการหรือไม่ หากไม่ ก็สามารถกลับไปตรวจสอบได้หรือหากเผ็ดมากกว่าที่ต้องการ ก็จะสามารถควบคุมปริมาณวัตถุดิบที่ต้องการใช้ต่อไป ถือเป็นการช่วยในการควบคุมความเผ็ดให้กับการผลิตแต่ละล็อตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากพริกจะถูกนำเข้ามาจากแต่ละแหล่งที่ไม่เหมือนกัน ทั้งเรื่องของพันธุ์ แหล่งที่มาของแต่ละภาค ฤดูกาลที่ปลูก และอายุของพริก ก็มีผลให้พริกนั้นมีความเผ็ดไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่จะกำหนดวัตถุดิบที่ต้องการไว้แล้วก็ตาม

 

ด้วยระบบการทำงานที่ง่าย ไม่ต้องใช้ผู้ชำนาญการ เพียงนำพริกบดหรือตัวอย่างน้ำพริกที่ต้องการมาชั่ง เติมสารสกัด เขย่า แล้วนำมาไปปั่นให้สารตกตะกอน จากนั้นนำมาหยดวัดค่าความเผ็ด ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็สามารถรู้ผลระดับความเผ็ด โดยผลลัพธ์ที่ได้จากเครื่องดังกล่าวถือว่ามีความแม่นยำสูงถึง 95% หรือ Error บวกลบไม่เกิน 5% โดยค่าที่ตรวจวัดได้อ้างอิงกับค่าการวัดด้วยเครื่อง HPLC ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน AOAC ที่ใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังสามารถปรับค่าให้เครื่องวัดตรวจวัดความเผ็ดเปรียบเทียบกับมาตรฐานอื่นได้ด้วย

 

ปัจจุบัน "เครื่องวัดความเผ็ด" ได้ดำเนินการยื่นขอจดสิทธิบัตรใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และเวียดนาม อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและได้จัดจำหน่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารหลายบริษัทภายใต้ชื่อทางการคือ "เครื่อง CAPSELLA" นอกจากนี้ ผลงานวิจัยนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก Seoul International Invention Fair ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลี เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา และล่าสุดยังได้รับรางวัลจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ในงานการประกาศเกียรติคุณรางวัลเกียรติยศ "ผลงานเด่น สวก." เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2558 ที่ผ่านมาอีกด้วย