TECHNOLOGY

ใช้เทคโนโลยีต่างประเทศพัฒนาเส้นใยธรรมชาติ ต่อยอด Eco Fiber
POSTED ON 23/12/2557


เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าต่อยอดสู่ระยะที่ 2 (ต้นแบบเส้นใยยาว)พร้อมเป้าหมายพัฒนาเส้นใยธรรมชาติโดยใช้เทคโนโลยีในต่างประเทศ โดยนำวัตถุดิบเหลือใช้จากภาคการเกษตรวิจัยเพิ่ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิต

 

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สถาบันฯ เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสู่ผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยธรรมชาติในอาเซียนก็เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของเส้นใยธรรมชาติ ด้วยการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ระยะที่ 1 (กลุ่มโครงการพัฒนาเส้นใยปี 2557) โดยนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม มาวิจัยและพัฒนาสู่เส้นใยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเป้าสร้างเส้นใยที่หลากหลายสู่อุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาฝ้าย และตอบสนองความต้องการของตลาดรักษ์โลกที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น

 

ในการวิจัยและพัฒนาในระยะที่ 1 ทางสถาบันฯ สามารถพัฒนาเส้นใยจากวัตถุดิบเหลือใช้จากภาคการเกษตร 3 ชนิด คือ เส้นใยสับปะรด เส้นใยกัญชง เส้นด้ายจากไหมรีไซเคิล สู่การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมวก กระเป๋า และกางเกงยีนส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัยและพัฒนาเส้นใยในระยะแรก พบว่า เทคโนโลยีในประเทศไทยนั้นยังไม่รองรับการปั่นเส้นใยสับปะรดแบบเส้นใยยาวได้ ทางสถาบันฯ จึงตั้งเป้านำเส้นใยสับปะรดไปพัฒนาในต่างประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลีเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ได้เส้นใยสับปะรดที่มีคุณภาพและนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและสามารถใช้ได้จริง

 

สถาบันฯ ไม่หยุดที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งในขณะนี้ยังคงเดินหน้าศึกษาวิจัยและพัฒนาเส้นใยจากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรด้วยการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ในระยะที่ 2 (ต้นแบบเส้นใยยาว) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งในครั้งนี้มุ่งศึกษาวิจัยเส้นใยธรรมชาติที่ได้วิจัยแล้ว รวมทั้งเส้นใยใหม่ ให้มีศักยภาพและมีปริมาณสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สับปะรด กาบกล้วย ผลตาล เปลือกหมาก ผักตบชวาเป็นต้น โดยเชื่อมโยงนวัตกรรม เทคโนโลยี และการออกแบบ รวมไปถึงช่องทางการตลาด เพื่อมุ่งเน้นไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เครื่องแต่งกาย (Apparel) เคหะสิ่งทอ (Home Textiles) ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) และสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Textiles) ส่งต่อไปใช้ยังอุตสาหกรรมอื่นๆ

 

นอกจากนี้ ผลผลิตที่ได้ยังเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยโครงการนี้ยังเป็นการลดการนำเข้าเส้นใยจากต่างประเทศ ชูศักยภาพเพิ่มขึ้นตลอดกระบวนการผลิต

 

การส่งเสริมนี้จำเป็นต้องส่งเสริมควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันของอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการพัฒนาองค์ความรู้พึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า พร้อมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตทั้งระบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเป็นเจ้าของและผลักดันให้เกษตรกรผู้ผลิตเข้าใจภาวะตลาด โดยผลักดันให้ชุมชนมีส่วนร่วม และการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ทั้งห่วงโซ่การผลิต ผ่านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมีความเข้มแข็งขึ้นในระยะยาว และสามารถเป็นผู้นำอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งอาเซียนได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ คาดว่าหากนำเส้นใยธรรมชาติมาพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ลดการสูญเสียของวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคเกษตร และสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างรายได้แก่เกษตรกรไทยมากยิ่งขึ้น

 

ที่มา : ASTV ผู้จัดการ