TECHNOLOGY

สวทน. เผย แนวโน้ม 6 เทคโนโลยีรองรับอนาคต
POSTED ON 23/09/2557


ข่าวเทคโนโลยี - "ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร" ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สวทน. เผยถึงแนวโน้ม 6 เทคโนโลยี ที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อวิถีเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นและสอดคล้องกับแนวโน้มของภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง สวทน. มุ่งเน้นดำเนินกิจกรรมส่งเสริมเทคโนโลยี บุคลากร และนวัตกรรม ใน 6 ด้าน ได้แก่...

 

1. เทคโนโลยีระบบราง รถไฟ และรถไฟฟ้า

 

สวทน. มุ่งพัฒนาบุคคลากรและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีระบบรางตอบรับการปฎิรูปการคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อประหยัดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพความเร็วและการบริหารจัดการของระบบราง

 

โครงการพัฒนากำลังคนสำหรับระบบขนส่งทางรางจะรองรับโครงการลงทุนระบบขนส่งทางราง ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟกึ่งความเร็วสูงในอนาคตด้วย และยังเป็นการสร้างศักยภาพสู่ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่สากล ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมขนส่งและบริการระบบราง สามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่องได้อย่างมาก เช่น การผลิตอะไหล่ชิ้นส่วน เบาะ วงจรไอที เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของยานยนต์ที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์อยู่แล้ว

 

ระบบรางยังมีบทบาทในการพัฒนาเมืองที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค การเชื่อมโยงทั้งด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยวตามเส้นทางระบบรางโครงข่าย สวทน.ได้เสริมสร้างเครือข่าย 19 องค์กร ร่วมพัฒนา และช่างเทคนิค ระดับปวส. ด้วยความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานด้านบริการเดินรถและอุตสาหกรรมการผลิต องค์กรที่รับผิดชอบด้านการขนส่งระบบราง และภาคการศึกษาและวิจัย อาทิ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ มหาชน (BMCL) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น

 

จากการศึกษาวิเคราะห์คาดว่า ในปี 2563 หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความต้องการกำลังคนในเทคโนโลยีระบบราง น่าจะมีจำนวนกว่า 31,000 คน ประกอบด้วย วิศวกร 6,000 คน ช่างเทคนิค 12,000 คน และเจ้าหน้าที่ประจำสถานี 13,000 คน ซึ่งการวางระบบในการพัฒนากำลังคนให้เกิดความรู้ความเชี่ยวชาญจะเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย ต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในอนาคตได้ด้วย เช่น การผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ เบาะ ตัวถัง วงจรไอที เป็นต้น

 

ส่วนแผนงานในอนาคตจะจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ โดยเบื้องแรกมีแนวคิดที่จะตั้ง สถาบันวิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย (Thailand Rail Academy) เป็นศูนย์ประสานงาน เชื่อมโยง ส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวก เพื่อพัฒนาบุคลากร สร้างความเชี่ยวชาญ เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และสั่งสมความรู้ความสามารถของประเทศด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางให้ก้าวไกล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

 

2. เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

 

โลกปัจจุบันมีกระบวนการผลิตและการบริการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและพัฒนาไปไกล ในการผลิตและสร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูงสามารถเข้ามาช่วยในเรื่องของการทำงานที่มีความยุ่งยากหรือมีความเสี่ยงต่ออันตรายสูง เช่น การกู้ภัย กู้ระเบิด ไลน์การผลิต การก่อสร้าง หรืองานที่ต้องการความแม่นยำสูงอย่างด้านการแพทย์หุ่นยนต์ยังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

 

3. นวัตกรรมเพื่อการเกษตร

 

ประเทศไทยนั้นนับได้ว่าเป็นครัวโลก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของประเทศและภูมิภาคโลก การส่งเสริมให้คนไทยพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเกษตรนั้นสามารถเข้ามาช่วยในเรื่องของการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละตลาดได้ และทำให้สามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (ไทยเอสที) สวทน.มุ่งส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเกษตร การปรับปรุงพันธุ์พืช (Plant Breeding) ซึ่งจะเน้นการปรับปรุงพันธุ์ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ลำไย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่สามารถให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศด้วย

 

4. เทคโนโลยีชีวภาพเภสัชภัณฑ์

 

เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น เทคโนโลยีชีวภาพ เภสัชภัณฑ์ ที่ดำเนินการสอนโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมีจุดประสงค์เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่อุตสาหกรรม ลดต้นทุนนำเข้ายาชีววัตถุและเพิ่มมูลค่าการผลิตในประเทศ และปูทางเป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เพราะยาชีววัตถุนั้นได้จากสิ่งมีชีวิต

 

ดังนั้น จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษ ในการคิดค้นหานวัตกรรมยาและการรักษาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดย สวทน. ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการเปิดหลักสูตรทักษะวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ ผลิตกำลังคนในด้านนี้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านชีวเภสัชภัณฑ์ของประเทศ

 

5. ไบโอเซ็นเซอร์ (Biosensor) 

 

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเซ็นเซอร์มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยเป็นอย่างมาก อาทิ อุตสาหกรรมด้านเกษตรและอาหาร ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย และด้านยานยนต์ ระบบโลจิสติกส์ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์อุตสาหกรรมนี้อยู่จำนวนมาก และยังขาดผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในเทคโนโลยีนี้

 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้แบบสหสาขา โดยเฉพาะด้าน Bioelectronics & Biosensors นอกจากนี้ยังพบปัญหาว่า นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานต่างๆ ยังมีจำนวนน้อย ขาดการรวมตัวเป็นเครือข่ายที่เข็มแข็ง ส่งผลให้การต่อยอดผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีทางด้านนี้เป็นไปได้ช้า ที่ยังมีความจำเป็นยิ่งในการพัฒนาเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเชื่อมโยงนักวิจัยจากหลากหลายสาขา ได้แก่ การผลิตสารชีวภาพ การพัฒนาเชิงเคมีวิศวกรรม และวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาต่างๆ เป็นต้น รวมถึงคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่มีความรู้ภาคการผลิตและบริการ เพื่อการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ

 

สวทน. จึงร่วมกับสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาในการนำร่อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาบุคลากรในภาคการผลิตและบริการให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรภายในประเทศ

 

6. นวัตกรรมด้านการออกแบบและวิศวกรรมเพื่อการผลิต

 

เนื่องจาก สวทน. ได้เร่งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานของผู้ประกอบการ จากผู้ผลิตตามคำสั่ง หรือ Original Equipment Manufacturer (OEM) ไปสู่การมีความสามารถในด้านการออกแบบ หรือ Original Design Manufacturing (ODM) ไปสู่การมีตราสินค้าเป็นของตัวเอง หรือ Original Brand Manufacturing (OBM) จึงได้ดำเนินการโครงการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบและวิศวกรรมเพื่อการผลิต (Center of Innovation in Design and Engineering for Manufacturing) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและวิศวกรรมเพื่อการผลิต ระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและภาคเอกชน ในการร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบและวิศวกรรม เพื่อพัฒนาบุคลากรในภาคการผลิตให้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านทฤษฏีและปฏิบัติ ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

 

อีกทั้งยังร่วมพัฒนาเทคโนโลยีด้านการออกแบบเพื่อการผลิตอย่างมีคุณภาพ และจัดให้มีระบบการสั่งสมและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านการออกแบบเพื่อการผลิตแก่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมจะสามารถมีธุรกิจที่แข่งขันได้และมีความยั่งยืนก็จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนด้านบุคลากรและการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าสูงขึ้น

 

ส่วนภาครัฐบาลก็จะต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านการวิจัยและพัฒนาและการสร้างกำลังคนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของรัฐบาล ก็มีเป้าหมายที่จะเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและครูวิทยาศาสตร์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและนำพาประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้อย่างยั่งยืน

 

เกี่ยวกับ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

 

สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ไทยเอสที (THAIST) เป็นองค์กรสนองตอบการขับเคลื่อนกลยุทธ์พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบูรณาการประสานงานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้ประกอบการ สถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมมือพัฒนาฐานความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างบุคคลากรผ่านระบบการศึกษาวิจัย และเสริมสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อนโยบายและความต้องการของประเทศ เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่สำคัญเป็นการเพิ่มคุณภาพและขีดความสามารถของคนไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศมากขึ้น เพื่อรองรับ AEC ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ