TECHNOLOGY

สวทช. โชว์ระบบบำบัดไนเตรตแบบท่อยาว ลดการถ่ายน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
POSTED ON 25/11/2556


 

ข่าวเทคโนโลยี - สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(สวทช.)โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร (สัตว์น้ำ) และระบบบำบัดไนโตรเจนแบบท่อยาว (Tubular Denitrifcating Reactor) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากไบโอเทค เพื่อลดปริมารการเปลี่ยนถ่ายน้ำและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการพร้อมรักษาสิ่งแวดล้อม

 

การพัฒนาระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบบำบัดไนเตรตแบบท่อยาว เป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลของไบโอเทคที่ได้พัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อใช้กับระบบหมุนเวียนน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

 

บริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำขึ้นเพื่อขยายขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์  โดยมีคณะนักวิจัยจากไบโอเทคและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบและเป็นที่ปรึกษาการจัดสร้างระบบหมุนเวียนน้ำและระบบบำบัดไนเตรตแบบท่อยาวรวมทั้งฝึกอบรมพนักงานบริษัทในการใช้งานและบำรุงรักษาระบบหมุนเวียนน้ำ

 

 

ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข นักวิจัยไบโอเทค ผู้คิดค้นพัฒนาระบบบำบัดไนเตรตแบบท่อยาว กล่าวว่าจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้เป็นการใช้ระบบบำบัดไนเตรตแบบท่อยาว โดยใช้ปฎิกิริยาดีไนตริฟิเคชั่น ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน และเมื่อใช้ร่วมกับระบบบำบัดตัวกรองชีวภาพไนตริฟิเคชั่น จะสามารถกำจัดของเสียไนโตรเจนในรูปของแอมโอเนีย ไนไตรต์และไนเตรตได้อย่างสมบูรณ์ทำให้ปริมาณการเปลี่ยนถ่ายน้ำจากปกติ 15-20% ต่อวัน ลดเหลือเพียง 0.5% ต่อวัน เพื่อชดเชยน้ำที่ระเหยไปจากระบบเท่านั้น หรือเปลี่ยนจากการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน มาเป็นการถ่ายน้ำเพียงปีละ 1 ครั้ง หรืออาจจะนานกว่านั้น ซึ่งจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าสามารถใช้น้ำอย่างต่อเนื่องได้นานกว่า 3 ปี  และยังกว่าเสริมอีกว่า “ไบโอเทคมีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนในการส่งเสริมด้านวิจัยและพัฒนาให้กับบริษัทไทย เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาด้วยฝีมือนักวิจัยไทย”

 

ระบบนิเวศน์ในปัจจุบันถูกทำลายเป็นผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สภาพภูมิประเทศหรือสภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตมากมายทั้งพืชและสัตว์ สัตว์น้ำก็เช่นกันไม่ได้รับการยกเว้น ด้วยสภาวการณ์เช่นนี้บริษัทจึงตระหนักและเห็นสมควรยิ่งให้มีการศึกษาผลกระทบและมุ่งมั่นพัฒนาสูตรอาหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศูนย์อาหารและการเพาะเลี้ยงที่ถูกวิธีเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรได้

 

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มและทดแทนปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงอย่างมีนัยทั้งในลำคลอง แม่น้ำ ทะเลและอีกทั้งมีเป้าหมายให้ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่ช่วยพัฒนาวงการอาหารสัตว์น้ำให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น  รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมนายอนุโรจน์กล่าวเสริมหลังจาการใช้งานจริงพบว่าระบบสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 20% อีกทั้งยังช่วยลดสารเคมีในการเตรียมน้ำ ลดค่าขนส่งน้ำทะเลและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคจากสัตว์น้ำภายนอกอีกด้วย