TECHNOLOGY

นักวิจัย มอ. พัฒนา "จอกยางนาโน" ลดการสูญเสียน้ำยาง
POSTED ON 12/09/2557


 

ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกต้นยางพาราทั้งสิ้นกว่า 18 ล้านไร่ หรือกว่า 1,000 ล้านต้น ซึ่งกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่จะขายในลักษณะของน้ำยางสดให้แก่อุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปต่อไป ซึ่งในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวน้ำยางนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อรวบรวมน้ำยางที่ได้จากการกรีด ซึ่งจะต้องปาดน้ำยางออกจากจอกยางให้ได้มากที่สุดเพื่อลดการสูญเสียในขั้นตอนดังกล่าว

 

เนื่องจากน้ำยางมีความเหนียวมากในขั้นตอนของการเก็บเกี่ยวจะมีน้ำยางที่ติดค้างอยู่ที่จอกยาง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้แห้งแล้วเก็บไปขายในลักษณะขี้ยาง กลายเป็นยางที่ขายได้ราคาถูกและคุณภาพต่ำกว่าน้ำยางสด ด้วยเหตุนี้ ดร.ฉลองรัฐ แดงงาม นักวิจัยของสถานวิจัยความเป็นเลิศนาโนเทคโนโลยีเพื่อพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงพัฒนางานวิจัยที่มีชื่อว่า "น้ำยาพ่นเคลือบผิวที่มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำยางอย่างยิ่งยวด" ขึ้น โดยพัฒนาสูตรน้ำยาที่ทำให้การเก็บน้ำยางง่ายดายขึ้น น้ำยางไม่เกาะติดกับผิวของจอกยาง

 

ดร.ฉลองรัฐ กล่าวว่า "หากลองเปรียบเทียบภาพรวมของไทย สวนยางพารา 1 ไร่ เฉลี่ยปลูกยางได้ประมาณ 75 ต้น จากข้อมูลเมื่อปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่สามารถกรีดยางได้ประมาณ 15,130,363 ไร่ จะมีต้นยางพาราประมาณ 1,134,777,225 ต้น หากยังปล่อยให้มีการสูญเสียน้ำยางในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 กรัมต่อต้นต่อวัน คิดเป็นน้ำยางที่สูญเสียไปประมาณ 2,270 ตันต่อวัน และในหนึ่งปีสามารถกรีดยางได้ 150 วัน ดังนั้น ประเทศไทยจะสูญเสียน้ำยางพาราสดปริมาณ 340,555 ตันต่อปี เทียบเท่ากับว่าเราจะสูญเงินไปโดยเปล่าประโยชน์จำนวนนับหมื่นล้านบาทต่อปี"

 

นายอภิชาติ เตชะภัทรกุล อุปนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย ได้กล่าวเสริมงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ยินดีร่วมมือและส่งเสริมผลงานวิจัยชิ้นนี้ เนื่องจากทราบดีว่านอกจากการสูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยวน้ำยางสดแล้วเกษตรกรบางรายมีการใช้จอกยางที่มีขี้ยางติดอยู่มากซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อและปนเปื้อนมาที่น้ำยางสด เรียกว่า VFA หรือ Volatile fatty acid น้ำยางจะถูกเชื้อทำลายจนเกิดการเสียสภาพ ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำยางโดยตรง และยังส่งผลไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากน้ำยางเหล่านั้น เช่น ถุงมือยาง หรือถุงยางอนามัย ที่จะเป็นรูหรือรั่วง่าย

 

"โดยทั่วไปน้ำยางข้นมีความหนืดสูงกว่าน้ำยางสดมักมีการเกาะติดตามบ่อพัก ราง และท่อลำเลียงโรงงานต่างๆ จึงต้องใช้พลังงานสูงเพื่อให้มีแรงส่งน้ำยางในระบบการผลิต และยังมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเพื่อทำความสะอาดระบบที่อาจต้องหยุดการผลิต 2-3 วัน ส่งผลให้การผลิตไม่ต่อเนื่อง โดยทั้งหมดนั้นล้วนเป็นผลทำให้ต้นทุนในการผลิตน้ำยางข้นสูงขึ้น" นายอภิชาติ กล่าว

 

"ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมน้ำยางข้นจะเป็นเพียง 1 ใน 4 ของภาพรวมอุตสาหกรรมยางทั้งประเทศ แต่ถ้าเราทำให้เป็นหนึ่งส่วนที่เต็มประสิทธิภาพได้น่าจะดีกว่า สมาคมน้ำยางข้นไทยจึงสนับสนุนงานวิจัยนี้ เพราะเรามั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นตอนนี้ได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้เป็นผลงานที่มีศักยภาพสูงและสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก เพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหาอุตสาหกรรมยางไทยต่อไป" นายอภิชาติ กล่าวเสริม

 

ล่าสุด บริษัท วอนนาเทค จำกัด ได้เล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของงานวิจัย "น้ำยาพ่นเคลือบผิวที่มีสมบัติไม่ชอบน้ำยาง" จึงได้ขออนุญาตใช้สิทธิจากทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นำผลงานวิจัยดังกล่าวไปผ่านกระบวนการผลิตนำร่องเป็นผลิตภัณฑ์ 2 ประเภท โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "ฟาสซี่" (Fazzy) เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการเคลือบผิวจอกยาง และ "แล็กซ์" (lax) เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเคลือบผิวภาชนะที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำยางข้น และคาดว่าจะขยายผลไปยังอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางพาราต่อไป