TECHNOLOGY

มจธ. จัดตั้ง ?ห้องปฏิบัติการระบบแสงสว่าง? แห่งแรกของมหาวิทยาลัยไทย
POSTED ON 07/08/2557


 

ข่าวเทคโนโลยี - เมื่อความนิยมของหลอด LED กำลังมาแทนที่หลอดไฟฟ้าแบบเดิม ทำให้มีการพัฒนาและผลิตหลอด LED ออกมาใช้อย่างต่อเนื่องรวมถึงมีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่จะทราบได้อย่างไรว่าหลอด LED มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้มาตรฐานจึงจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาทดสอบประสิทธิภาพของหลอด LED เพื่อให้ได้มาตรฐาน LM-79 หรือ IESNA LM-79-2008 ซึ่งเป็นเกณฑ์การวัดคุณภาพมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในการทดสอบและประเมินคุณภาพของหลอด LED แต่ในประเทศไทยโดยปัจจุบันมีสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และภาคเอกชนบางแห่งเท่านั้นที่ให้บริการการทดสอบ

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงเล็งเห็นความสำคัญของระบบไฟฟ้าส่องสว่างได้จัดตั้ง "ห้องปฏิบัติการระบบแสงสว่างขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของมหาวิทยาลัยไทย" เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมส่องสว่างรวมถึงให้บริการการทดสอบและออกใบรับรองมาตรฐานดังกล่าว โดยได้มีพิธีเปิดห้องปฏิบัติการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ ชั้น 2 อาคารเรียนรวม 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.

 

รศ.ชาญศักดิ์ อภัยนิพัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการระบบแสงสว่าง อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการระบบแสงสว่าง จะทำการทดสอบ 2 ส่วนด้วยกัน คือ การทดสอบเรื่องประสิทธิภาพของการส่องสว่าง และการกระจายของแสง โดยเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ ประกอบด้วย

 

1. Integrating SPHERE หรือ เครื่องวัดค่าคุณลักษณะแสงสว่าง ใช้วัดค่าความสว่าง ความเข้มของแสง ความถูกต้องและอุณหภูมิของสี ระดับของสีในหลอดไฟมีระดับความเข้มมากหรือน้อยจะเป็นตัวกำหนดความสว่างโดยมีหน่วยวัดเรียกว่า ลูเมน/วัตต์ หรือเส้นแรงของแสงสว่างต่อกำลังไฟฟ้าผลการทดสอบหากได้ค่าลูเมน/วัตต์ ยิ่งสูง ประสิทธิภาพก็จะยิ่งมากขึ้น

 

2. Goniophotometer หรือ เครื่องสำหรับทดสอบการกระจายแสงใช้วัดการกระจายของแสง เพราะมุมของการกระจายแสงจะมีผลต่อการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างในและนอกอาคาร

 

การทดสอบคุณสมบัติของหลอด LED ดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐาน LM-79 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ขณะที่ในประเทศไทยห้องทดสอบเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตหลอดไฟรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการระบบแสงสว่าง มจธ.จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมส่องสว่างได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง เป็นการสร้างพื้นฐานในการทำงานจริงในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หลอดไฟ และเพื่อประโยชน์ด้านงานวิจัย

 

สำหรับห้องปฏิบัติการระบบแสงสว่าง มจธ. ถือเป็นรายแรกและรายเดียวของมหาวิทยาลัยไทยที่มีเครื่องทดสอบตามมาตรฐานที่สามารถให้บริการแก่ภาคเอกชนและภาครัฐได้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาขอรับบริการในระบบสมาชิกแล้ว 6 ราย ได้แก่ บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด, บริษัท จีเนียสทราฟฟิคซีสเต็ม จำกัด, บริษัท ไลท์ติ้งแอนด์อีควิปเมนท์ จำกัด, บริษัท เลคิเซ่ไลค์ติ้ง จำกัด และ Laster Tech Co. Ltd.

 

สำหรับเครื่องทดสอบ “Integrating SPHERE” และ “Goniophotometer” นี้ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท แอ็พพลาย ดีบี อินดัสเตรียล จำกัด มูลค่ารวมกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งมอบไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการศึกษาการวิจัยและกิจกรรมของมหาวิทยาลัย