TECHNOLOGY

ปตท.สผ. ผนึก 4 องค์กร พัฒนายานยนต์ใต้น้ำสำรวจและวิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเล
POSTED ON 18/06/2557


 

ข่าวเทคโนโลยี - บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อร่วมกันพัฒนายานยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกล (Remotely Operated Vehicle : ROV) หรือ อาร์โอวี สำหรับใช้ในการสำรวจและการวิจัยสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

 

โดยการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายอัษฎากร ลิ้มปิติ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและพัฒนาความยั่งยืน ปตท.สผ., ดร.ชำนาญ พงษ์ศรี เลขาธิการศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ผศ.วรวิทย์ จตุรพาณิชย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

 

ปตท.สผ. ได้ริเริ่มการนำอาร์โอวีเข้ามาใช้สำหรับการวิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณแท่นปิโตรเลียมเป็นครั้งแรก นอกเหนือไปจากการนำมาใช้ในการซ่อมบำรุงแท่นผลิตปิโตรเลียมในทะเล โดยเล็งเห็นว่าการนำอาร์โอวีมาใช้ในการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวัง สภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล จะทำให้ได้ข้อมูลและภาพตามเหตุการณ์จริง (Real Time) เชื่อถือได้ รวมทั้ง ยังมีสถาบันการศึกษาและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานพัฒนาและวิจัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เทคโนโลยีนี้สามารถตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยรอบ

 

นายอัษฎากร ลิ้มปิติ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและพัฒนาความยั่งยืน ปตท.สผ. กล่าวว่า “ปตท.สผ. ขอขอบคุณทั้ง 4 องค์กร สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาอาร์โอวีเพื่อใช้ในงานสำรวจสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในทะเลครั้งนี้ซึ่งเป็นงานวิจัยและพัฒนามาสู่การใช้งานจริงอย่างมีประสิทธิภาพ การริเริ่มใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท.สผ. ที่จะเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำในเอเชีย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและหัวใจ สีเขียว โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

 

นอกจากนี้ อาร์โอวีที่พัฒนาขึ้นครั้งนี้ ยังสามารถนำมาใช้สำหรับการตรวจ ติดตามสิ่งแวดล้อมทางทะเลในบริเวณที่จะมีการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในทะเลที่จะหมดอายุการใช้งานในอนาคตอีกด้วย

 

สำหรับความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว ปตท.สผ. ได้รับความร่วมมือจากศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้การสนับสนุนตัวอาร์โอวี โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือจะเป็นผู้ออกแบบ พัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมให้กับอาร์โอวีให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของ ปตท.สผ. ส่วนสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะช่วยดูแลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จะช่วยดูแลเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางทะเลสำหรับความร่วมมือครั้งนี้