TECHNOLOGY

Raspberry Pi Compute Module Development Kit สำหรับวิศวกรสร้างระบบสมองกลฝังตัวของตนเองได้
POSTED ON 18/06/2557


 

ข่าวเทคโนโลยี - อาร์เอส คอมโพเน็นส์ (อาร์เอส) ประกาศการวางจำหน่าย Raspberry Pi Compute Module ผลิตภัณฑ์ล่าสุดจากทีมพัฒนาของ Raspberry Pi Foundation โดยในช่วงแรกนี้ อาร์เอสจะเปิดให้สั่งจอง Compute Module ซึ่งจะรวมชุดมากับ Compute Board Module IO Development Board ชุดพัฒนาใหม่ล่าสุดนี้จะดึงพลังการเชื่อมต่อ IO ทั้งหมดออกมา เพื่อสร้างแพลตฟอร์มพัฒนาต้นแบบสำหรับวิศวกรออกแบบอิเล็กทรอนิกส์

 

Raspberry Pi Compute Module พัฒนาขึ้นสำหรับวิศวกรในตลาดวิชาชีพโดยเฉพาะ เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างระบบสมองกลฝังตัวของตนเองได้ โมดูลดังกล่าวมีขนาดพอดีกับซ็อกเก็ต DDR2 SODIMM มาตรฐาน และมีฟีเจอร์พื้นฐานเหมือนกับ Raspberry Pi มาตรฐาน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยประมวลผล Broadcom BCM2835 และแรม 512 เมกะไบต์ ในส่วนของเอสดีการ์ดนั้นถูกแทนที่ด้วยแฟลช eMMC 4 กิกะไบต์ และได้มีการผนวกรวมทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในแผงวงจรกะทัดรัดขนาด 67.6 x 30 มิลลิเมตร

 

Compute Module IO Development Board เป็นแผงวงจรพัฒนาแบบโอเพ่นซอร์สที่เรียบง่าย ซึ่งมี Compute Module เสียบอยู่ แผงวงจรดังกล่าวช่วยให้นักออกแบบสามารถเขียนคำสั่งแฟลชเมโมรีของโมดูล ตลอดจนเข้าถึงอินเตอร์เฟซของหน่วยประมวลผลได้อย่างง่ายดายผ่านพินเฮดเดอร์และข้อต่ออ่อน ซึ่งคล้ายกันกับ Raspberry Pi มาตรฐาน แผงวงจรประกอบด้วยซ็อกเก็ต HDMI และอุปกรณ์เชื่อมต่อยูเอสบีที่จำเป็นต่อการสร้างระบบรวมที่สามารถบูทระบบปฏิบัติการของผู้ใช้ และเปิดทางให้วิศวกรเริ่มการออกแบบด้วย Compute Module ได้

 

นายอีเบน อัพตัน จาก  Raspberry Pi Foundation กล่าวว่า “แนวคิดสำหรับ Compute Module นั้นเกิดจากการที่เราได้สังเกตวิธีที่นักออกแบบอุปกรณ์เชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์จำนวนมาก ได้รวม Raspberry Pi เข้าในระบบปลายทางของตนเอง เราต้องการหาโซลูชั่นที่จะนำเสนอทรัพยากรประมวลผลทั้งหมดของ Raspberry Pi ในรูปแบบกะทัดรัด แต่ยังคง IO ไว้ให้กับผู้ผลิตระบบปลายทาง”

 

“Raspberry Pi กำลังจะก้าวไปไกลกว่าแนวคิดดั้งเดิม ซึ่งก็คือการเป็นเครื่องมือเขียนโปรแกรมการศึกษาที่ช่วยให้วิศวกรมีแนวทางที่รวดเร็วและย่อมเยาในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัว” นายเกลนน์ จาร์เรตต์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ของอาร์เอส คอมโพเน็นส์ กล่าว “เราคาดว่านักพัฒนาจะเร่งกระบวนการพัฒนาด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชน Raspberry Pi อันกว้างขวาง ซึ่งเติบโตขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้”