TECHNOLOGY

แลงเซส นำเสนอวัสดุโพลีเอไมด์ 6 ชนิดใหม่ สำหรับผลิตถังแก๊สธรรมชาติแรงดันสูงในรถยนต์
POSTED ON 05/11/2556


 

ข่าวเทคโนโลยี - แลงเซส (LANXESS) พัฒนาวัสดุเกรดโพลีเอไมด์ 6 (Polyamide 6) เทคโนโลยีขั้นสูงชนิดใหม่ซึ่งมีความทนทานอย่างมากที่อุณหภูมิต่ำถึงขีดสุด สำหรับใช้ในการผลิตถังแก๊สธรรมชาติ มีน้ำหนักเบากว่าและใช้ต้นทุนน้อยกว่า เพื่อการติดตั้งในรถยนต์ ระบบถังที่ผลิตด้วยวัสดุชนิดใหม่นี้ ได้ผ่านการทดสอบความพร้อมในการผลิตเพื่อออกจำหน่ายจริง

 

แลงเซส เดินหน้าลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียว หรือ Green Mobility อย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2554 ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียวสร้างยอดขายได้ราว 1,500 ล้านยูโร ซึ่งเท่ากับ 17% ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่ในช่วงหกเดือนแรกของปี พ.ศ.2555 ยอดขายของผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 20% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 878 ล้านยูโร

 

หนึ่งในตัวอย่างของความเชี่ยวชาญในการพัฒนาวัสดุเพื่อยานยนต์ที่มีความยั่งยืนของแลงเซสคือวัสดุเกรดโพลีเอไมด์ 6 ซึ่งพัฒนาจากผลิตภัณฑ์ในตระกูลดูรีเทน (Durethan) วัสดุอุณหภูมิต่ำที่ถูกปรับปรุงใหม่นี้  มีหมาะสมอย่างยิ่งในกระบวนการเป่าขึ้นรูปภายในของถังบรรจุแรงดันสูง พื้นผิวด้านในของถังจะถูกหุ้มและเสริมความแข็งแกร่งด้วยพลาสติกเทอร์โมเซตซึ่งเสริมแรงด้วยเส้นใยแก้วแบบต่อเนื่อง ทำให้ถังพลาสติกมีน้ำหนักเบากว่าถังเหล็กกล้าราว 75% ช่วยลดน้ำหนักตัวรถลง 4–7% ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของรถที่ใช้แก๊สธรรมชาติลงได้อย่างมาก เพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล

 

ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ แลงเซสสามารถตอบสนองต่อความนิยมการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแก๊สธรรมชาติ ที่กำลังเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภคได้ ซึ่งรถที่ใช้แก๊สธรรมชาติอัด (CNG) เป็นทางเลือกนอกเหนือจากน้ำมันซูเปอร์ไร้สารตะกั่วหรือไร้สารตะกั่วทั่วไปและดีเซล โดยมีราคาจำหน่ายถูกกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เครื่องยนต์ที่ใช้แก๊สธรรมชาติปล่อยมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเครื่องยนต์เบนซินราว 25% และน้อยกว่าดีเซลราว 15% ขณะที่ปริมาณการปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายสูงอย่างไนโตรเจนออกไซด์ก็ลดลง 53% และ 95% ตามลำดับ ถึงแม้ว่าแก๊สธรรมชาติอัดมักถูกเข้าใจผิดสลับกับแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) อยู่บ่อยครั้ง แต่แก๊สธรรมชาติอัดมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าชัดเจนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและความประหยัด เนื่องจากมีมวลพลังงานสูงกว่ามาก

 

วัสดุโพลีเอไมด์ 6 มีคุณสมบัติการป้องกันแก๊สรั่วซึมได้ดีกว่าโพลีเอธีลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ถึง 100 เท่า และหากเทียบกับโพลิออกซีเมทิลีน (POM) แล้ว โพลีเอไมด์ 6 ป้องกันการรั่วซึมได้มากกว่า 10 เท่า การตรวจวัดประสิทธิภาพแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะใช้เวลาทดสอบนานถึงหกเดือน แต่ก็ไม่มีแก๊สรั่วซึมจากแผ่นทดสอบโพลีเอไมด์ที่มีความหนาสามมิลลิเมตรเลย

 

วัสดุไหม่นี้มีความแข็งแกร่งสูงและทนทานต่อการแตกหักที่อุณหภูมิต่ำระดับ -40 องศาเซลเซียส พื้นผิวด้านในถังที่ทำด้วยเทอร์โมพลาสติกจะหดตัวมากกว่าผิววัสดุผสมโดยรอบ ขณะที่การเติมเชื้อเพลิงกลับเข้าไปนั้น แรงดันแก๊สจะขยายระบบอย่างฉับพลัน พื้นผิวด้านในจะต้องไม่ฉีกขาดหรือแตกหัก ซึ่งวัสดุโพลีเอไมด์ชนิดใหม่นี้มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นที่อุณหภูมิต่ำ ถังแรงดันที่ใช้วัสดุผสมจึงสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย และเติมเชื้อเพลิงได้แม้กระทั่งอุณหภูมิระดับ -40 องศาเซลเซียส

 

นอกจากนี้ บริษัท เอ็กซ์พีเรียน เอ็นเนอร์ยี แอนด์ เอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด (xperion Energy & Environment GmbH) ประเทศเยอรมนี ได้ดำเนินงานร่วมกับแลงเซส ในการพัฒนาระบบถังแก๊สธรรมชาติบนพื้นฐานของวัสดุชนิดใหม่นี้ ซึ่งได้รับการติดตั้งอยู่ในรถออดี้ เอ3 (Audi A3) และกำลังวางแผนที่จะติดตั้งถังแก๊สดังกล่าวในรถที่ออกจำหน่ายจริงในอนาคต