SPECIAL FEATURES

แรงงานขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรมยังวิกฤติ
POSTED ON 07/11/2556


 

สศอ. ชี้ สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมถึงขั้นรุนแรง จากตัวเลขประมาณการของการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2556 และ 2557 ปีละเกือบ 3 แสนคน ส่วนมากเป็นแรงงานในระดับกึ่งฝีมือและระดับแรงงาน ส่วนระดับปริญญาตรีขึ้นไปคาดว่าขาดแคลนปีละ 15,000 คน ในสายฝีมือเฉพาะด้าน และวิศวกรรม

 

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ชี้ว่า จากการศึกษาภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันเครือข่าย และสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่า ตัวเลขความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2556 และ 2557 เท่ากับ 5.85 และ 5.91 ล้านคน ในขณะที่มีผู้เข้าสู่แรงงานเพียง 5.46 และ 5.51 ล้านคน ดังนั้น จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2556 เท่ากับ 3.8 แสน ในปี 2557 เท่ากับ 3.95 แสนคน

 

ทั้งนี้ ในปี 2556 แรงงานที่ขาดแคลนกว่าร้อยละ 95 หรือประมาณ 365,860 คน เป็นแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรีประมาณ 15,200 คน

 

เมื่อพิจารณารายสาขาอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุด จำนวน 43,520 คน เป็นการขาดแคลนแรงงานในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีจำนวน 40,515 คน และแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไป 3,005 คน ทั้งนี้ ความชำนาญด้านฝีมือที่ขาดแคลนในอุตสาหกรรมนี้คือ นักจัดการสินค้าเสื้อผ้า ผู้ควบคุมเครื่องจักรตัดเย็บโรงงาน ช่างทำแบบตัดเย็บ นักออกแบบ ฯลฯ

 

ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีการขาดแคลนแรงงานรองลงมา จำนวน 36,606 คน เป็นแรงงานที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ประมาณ 32,579 คน และปริญญาตรีขึ้นไป 4,027 คน ซึ่งสาขาช่างฝีมือเฉพาะสาขาที่  ขาดแคลน คือ ช่างเทคนิคด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หัวหน้างานระดับต้นด้านเครื่องกล ช่างติดตั้งและบำรุงรักษา ฯลฯ

 

ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร ขาดแคลนแรงงานกว่า 30,825คน กว่าร้อยละ 97 เป็นความต้องการแรงงานระดับไร้ฝีมือ ส่วนแรงงานในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ขาดแคลนในสาขาวิเคราะห์และตรวจสอบอาหาร วิศวกรอาหาร และวิทยาศาสตร์อาหาร ฯลฯ ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการขาดแคลนแรงงานจำนวน 25,600 คน เป็นแรงงานที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ประมาณ 24,750 คน โดยเป็นการขาดแคลนแรงงานในสาขาวิศวกรแมคคาทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างไฟฟ้า ฯลฯ

 

นอกจากนี้ ยังมีการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมพลาสติก ไม้และเครื่องเรือน อัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงเหล็กและเหล็กกล้า และหากพิจารณาในภาพรวมของการขาดแคลนในระดับช่างฝีมือวิชาชีพในภาคอุตสาหกรรมพบว่า วิชาชีพที่ขาดแคลนส่วนมากคล้ายๆ กัน โดยสาขาขาดแคลนที่พบมากในทุกอุตสาหกรรม คือ ช่างอุตสาหกรรม ช่างติดตั้ง บำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องจักรอุตสาหกรรม ช่างกลโรงงาน ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม วิศวกรแมคคานิก และช่างด้านออกแบบเครื่องจักร ฯลฯ

 

ผู้อำนวยการ สศอ. ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การขาดแคลนแรงงานในอนาคต อาจมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรไทยมีแนวโน้มที่ลดลง ทำให้อุปทานแรงงานในวัยทำงานมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่อุปสงค์แรงงานมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ช่องว่างการขาดแคลนแรงงานมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

 

แม้ว่าแรงงานที่ขาดแคลนบางส่วนในปัจจุบันโดยเฉพาะแรงงานในระดับล่างที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือบางส่วนถูกทดแทนด้วยแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นได้มีการดำเนินงานภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของ สศอ. และสถาบันเครือข่าย โดยเร่งฝึกอบรมให้ความรู้กับช่างฝีมือด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะสั้นอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ได้วางแนวทางแก้ไขปัญหานี้ โดยเร่งการปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทดแทนแรงงานมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งจัดทำข้อมูลด้านแรงงาน โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อวางระบบการศึกษาและการอบรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับประเภทความชำนาญที่ต้องการของภาคเศรษฐกิจต่างๆ