SPECIAL FEATURES

PwC เผยผลสำรวจ CEO อาเซียนเชื่อปีนี้ ศก.โลกชะลอ มองการปฏิวัติของ AI เกิดผลกระทบมหาศาล-ไทยต้านกระแสไม
POSTED ON 21/02/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

PwC เปิดผลสำรวจ CEO อาเซียนครั้งที่ 22 จาก ซีโอโอ 91 ประเทศทั่วโลก เชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวลงมากกว่าปีก่อน แนวโน้มเป็นขาลง ระบุขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัล จีนและอินโดนีเซียติดอันดับประเทศน่าลงทุน นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก ครั้งที่ 22 ประจำปี 2562 จากซีอีโอทั่วโลก 1,378 ราย ใน 91 ประเทศ พบว่า ซีอีโออาเซียนเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวลงจากปีก่อน ซึ่งคล้ายคลึงกับมุมมองของซีอีโอโลก

 

ทั้งนี้ ซีอีโออาเซียนถึง 46% เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้จะลดลงจากปีก่อน จากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีเพียง 10% ขณะที่ซีอีโอโลก 28% ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัว จากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เพียง 5%

 

และพบว่า 5 อันดับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในสายตาของซีอีโออาเซียนในปี 62 ได้แก่ อันดับแรก ความขัดแย้งทางการค้า อันดับสอง ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง อันดับสาม ความไม่แน่นอนของนโยบาย อันดับสี่ กฎระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวดเกินไป และอันดับห้า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

 

"ผลสำรวจในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยซีอีโอมองประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายประเทศ รวมถึงสภาพแวดล้อมของกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ ที่มีความเข้มงวดมากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโต โดยปีนี้ เปอร์เซ็นต์ของซีอีโออาเซียนที่มีมุมมองในเชิงลบยังมีมากกว่าซีอีโอโลกด้วย ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ ที่ซีอีโอในฝั่งเอเชียมักมีความเชื่อมั่นมากกว่าซีอีโอจากฝั่งตะวันตก" นายศิระกล่าว

 

พร้อมระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ได้ส่งผลให้ซีอีโออาเซียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ในการเติบโต โดย 29% มีการปรับกลยุทธ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานและจัดหาวัตถุดิบ โดยหันไปส่งออกและหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน รวมถึงการชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ และคาดหวังว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนจะสามารถเจรจากันได้ ในขณะที่อีก 17% เลือกที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเติบโตในตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม

 

ในส่วนของความเชื่อมั่นต่อรายได้ของซีอีโออาเซียนในปีนี้ ผลสำรวจระบุว่า เปอร์เซ็นต์ความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ในระยะ 12 ปีข้างหน้านั้น ลดลงจาก 44% ในปีก่อน เหลือ 33% ในปีนี้ ขณะที่ 39% ของซีอีโออาเซียนเชื่อมั่นว่ารายได้ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตลดลงจากปีก่อนที่ 53%

 

สำหรับอุปสรรคสำคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของซีอีโออาเซียน ได้แก่ 1.การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 2.ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และ 3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

"การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสหลายๆ อย่าง ทั้งความสามารถทางการแข่งขัน, การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมถึงการขยายสู่ลาดใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน" นายศิริระบุ

 

ทั้งนี้ ผู้นำธุรกิจอาเซียนมองว่า 3 อันดับแรกของตลาดที่น่าลงทุน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทของพวกเขาเติบโตได้ในปีนี้ อันดับ 1 จีน อันดับ 2 อินโดนีเซีย อันดับ 3 สหรัฐ ในขณะที่ตลาดอันดับรองลงมานั้น อันดับ 4 เวียดนาม อันดับ 5 อินเดีย อันดับ 6 เมียนมา อันดับ 7 มาเลเซีย ในขณะที่ประเทศไทย ติดอยู่ในอันดับที่ 8 เท่ากับญี่ปุ่น กัมพูชา สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

 

นายศิระ มองว่า สาเหตุที่จีนและอินโดนีเซียขึ้นไปอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศที่น่าลงทุน เป็นเพราะทั้งสองประเทศดังกล่าวมีประชากรจำนวนมากและเป็นตลาดใหญ่ จึงยังมีโอกาสนำสินค้าเข้าไปขยายตลาดได้อีกมาก และจากอันดับการน่าลงทุนซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 8 นั้น อาจเป็นเพราะการสำรวจเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย-ต.ค. 61 ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการกำหนดวันเลือกตั้ง จึงอาจเกิดความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองของไทย และความเชื่อมั่น

 

"ถ้ามาสำรวจกันใหม่อีกครั้งในตอนนี้ เชื่อว่าอันดับของไทยในการเป็นประเทศที่น่าลงทุนมีโอกาสจะขยับขึ้นไปได้มากกว่าอันดับ 8 ในปัจจุบัน อาจเป็นอันดับ 7 หรือ 6 เพราะตอนนี้ได้เห็นการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้วคือ 24 มี.ค.62 ความไม่แน่นอนทางการเมืองหมดไป จากเดิมที่ทำสำรวจไว้ในช่วง ก.ย. ต.ค.ปีก่อน สถานการณ์การเลือกตั้งของไทยยังอึมครึม" นายศิระระบุ

 

สำหรับความพร้อมของอาเซียนในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาปฏิวัติธุรกิจนั้น นายศิระ กล่าวว่า ผู้นำธุรกิจตระหนักดีว่า AI กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อกรดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดย 72% ของซีอีโออาเซียน คาดว่าการปฏิวัติของ AI จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงกลางของยุค 90 และ 87% ยังเห็นด้วยว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของตนอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจกลับพบว่า ธุรกิจอาเซียนเกือบ 40% ยังไม่มีการนำ AI เข้ามาใช้งานในปัจจุบัน ขณะที่อีก 32% มีแผนที่จะนำAI เข้ามาใช้งานในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่วนอีก 28% มีการใช้งาน AI ในวงจำกัด และมีเพียง 4% ที่มีการใช้ AI อย่างกว้างขวางและเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร

 

นายศิระ ยังมองว่า ในส่วนของประเทศไทยคาดว่าคงไม่สามารถต้านกระแส AI ได้ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมีการนำเอไอเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจะเริ่มเห็นแล้วจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เข้าไปลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาองค์กรให้มีการปฏิบัติงานที่ทันสมัยมากขึ้น และรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต