SPECIAL FEATURES

เจาะลึกกรณีศึกษา โอตาเคะ ผู้ผลิตเครื่องจักรทำเส้นราเมง ทรานส์ฟอร์มสู่ยุคดิจิทัลด้วย IoT และที่ปรึกษา
POSTED ON 31/01/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics, Economic

การปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันยุคสมัย เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนตามเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วย เอบีม คอนซัลติ้ง ที่ปรึกษาธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น นำเสนอหนึ่งกรณีศึกษาของ โอตาเคะ (OHTAKE) บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรทำเส้นราเมงในประเทศญี่ปุ่น ที่ปรับทิศทางการทำธุรกิจให้ตอบโจทย์ทุกยุคได้ประสบความสำเร็จ ด้วยการพลิกกลับ 180 องศา จากเป้าหมายที่จะพัฒนาเครื่องจักรที่ดีที่สุด เป็นการโฟกัสไปที่ผู้บริโภคแทน ว่าต้องการเส้นราเมงแบบใด และพัฒนาเครื่องจักรให้สามารถผลิตราเมงให้ได้เช่นนั้น เอบีม คอนซัลติ้ง ได้ช่วย โอตาเคะในการปรับปรุงธุรกิจด้วยนวัตกรรม Data Driven Manufacturing และ เทคโนโลยี Internet of Things

 

นางสาวสุปรีดา จิรวงศ์ศรี ผู้บริหารระดับสูง บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาผู้ให้บริการการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจ ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าผู้นำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาใช้ต้องตระหนักถึงความต้องการของตลาดและลูกค้า ที่ต้องการเชื่อมต่อกับองค์กรในรูปแบบดิจิทัล โดยบริษัทฯ มีนวัตกรรมกรรมด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นโซลูชั่นอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ Data Driven Manufacturing , Data Driven Engineering และ Connected Home Appliances ซึ่งสามารถนำไปใช้ในธุรกิจได้หลายประเภท ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตเครื่องทำเส้นราเมงในประเทศญี่ปุ่นชื่อ "โอตาเคะ" (OHTAKE) ที่ประสบความสำเร็จในการนำโซลูชั่นอย่าง Data Driven Manufacturing มาประกอบการดำเนินธุรกิจ จนสามารถควบคุมและคาดการณ์การซ่อมบำรุงของเครื่องจักรในสายการผลิตได้ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรอย่าง เอบีม คอนซัลติ้ง

 

เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล โอตาเคะได้ขยายสายการผลิตโดยใช้ Internet of Things หรือ IoT มาช่วยปรับปรุงการบำรุงรักษาเครื่อง และเพิ่มคุณภาพของเส้นราเมง จากเดิมที่ใช้วิธีการขายเครื่องจักรแบบดั้งเดิม บริษัทฯ ได้หักมุมมองไป 180 องศา และเปลี่ยนไปทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์แทน เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้งานเครื่องจักรได้อย่างราบรื่น เต็มประสิทธิภาพ

 

โอตาเคะจับมือกับ เอบีม คอนซัลติ้ง ด้วยจุดประสงค์หลัก 2 ประการ อย่างแรกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร นั่นคือ การเพิ่มเวลาที่เครื่องจักรสามารถทำงานได้ และลดเวลาที่เครื่องจักรเสีย เนื่องจากทุกวินาทีที่เครื่องจักรเสียลง มีค่าดั่งรายได้ที่สูญหายไปของลูกค้า ดังนั้นช่วยให้ลูกค้าที่ใช้เครื่องจักรของโอตาเคะทำงานได้อย่างราบรื่น โอตาเคะจึงจำเป็นต้องทราบถึงปัญหาที่เป็นไปได้ทั้งหมด เพื่อเตรียมวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที

 

สำหรับจุดประสงค์ประการที่สอง คือการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์เส้นราเมง ซึ่งองค์ประกอบหลักของคุณภาพนั้นคือ น้ำหนักของเส้นราเมงที่ต้องคงที่ โอตาเคะได้เผชิญกับปัญหาน้ำหนักเส้นราเมงไม่คงที่เมื่อตัดเส้น ราเมงออกเป็นชิ้น ๆ ทำให้โอตาเคะตัดสินใจนำเทคโนโลยี IoT มาทำงานกับเครื่องจักรในการเก็บข้อมูล และทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักรกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ และความชื้น

กระบวนการผลิตเส้นราเมงเริ่มต้นเมื่อแป้ง ไข่ น้ำ และส่วนผสมอื่น ๆ คลุกเคล้

ากันเป็นก้อน หลังจากนั้นจึงหั่นให้แป้งเป็นเส้น ลวกในน้ำร้อน ทอด และบรรจุ เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรในกระบวนการเหล่านี้ เอบีม คอนซัลติ้ง ได้ทำการติดตั้ง RFID ที่ใบมีด เพื่อระบุใบมีดที่มีการใช้มากที่สุด และประเมินความต้องการการบำรุงรักษาของแต่ละใบ การหมุนเวียนและการสั่นสะเทือนของมอเตอร์ รวมถึงน้ำหนักของเส้นที่ผลิตได้ ล้วนถูกวัดและจัดเก็บข้อมูลไว้ และท้ายที่สุดจะวางเซนเซอร์ไว้ที่เครื่องฉายลำแสงและหม้อทอด เพื่อตรวจจับความชื้นและอุณหภูมิที่สัมพันธ์กับตัวเครื่อง หลังจากรวบรวมข้อมูลดิจิทัลทั้งหมดแล้ว ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปยังเครื่อง PLC ที่มาจากความร่วมมือกับ MITSUBISHI Electric สำหรับเก็บข้อมูลแบบอะนาล็อก ก่อนที่จะถูกส่งไปยัง SAP Leonardo ผ่านทางไวไฟ

 

SAP Leonardo เป็นโซลูชั่นที่โอตาเคะร่วมมือกับเอบีม คอนซัลติ้ง เลือกสรร เพื่อเป็นผู้นำกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมราเมง ข้อมูลที่รวบรวมทั้งหมดได้นำเข้าระบบนี้ และวิเคราะห์ในรูปแบบของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) ก่อนจะนำเสนอผลลัพธ์ให้กับลูกค้า ตัวอย่างเช่น การจับข้อมูลทั้งหมดผ่าน RFID และข้อมูลเซนเซอร์ ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าใจข้อมูลของแต่ละมอเตอร์ได้ และทำนายความผิดพลาดของเครื่องจักรก่อนจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ระบบจะทำนายเวลาที่เหมาะสมในการตรวจสอบเครื่องจักร และป้องกันปัญหาก่อนที่มันจะเกิดขึ้นอีกด้วย สุดท้าย เอบีม คอนซัลติ้ง ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และพบว่าความชื้นและอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของเส้นราเมงที่สุด

 

จากนวัตกรรมของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นข้างต้น ทำให้โอตาเคะได้พัฒนาการผลิตเครื่องทำเส้นราเมงอย่างก้าวกระโดด ด้วยการบำรุงรักษาเชิงป้องกันและเชิงรุก การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริหารต้นทุนให้เกิดผลประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด โดยในอนาคต โอตาเคะ และเอบีม คอนซัลติ้ง จะพัฒนาและประยุกต์นวัตกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นโซลูชั่นอื่น ๆ เข้ามาใช้ให้ครอบคลุม เพื่อความสำเร็จยิ่งขึ้นต่อไป