SPECIAL FEATURES

อุตสาหกรรมเหมืองทองคำในไทยกับผลกระทบเชิงนิเวศ
POSTED ON 26/12/2556


 

การคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองทองคำระหว่างบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กับประชาชน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการมีสารพิษปนเปื้อนในดิน น้ำ และกรณีที่ในปี 2555 เขื่อนกักเก็บกากสารไซยาไนด์พังทลายลง ทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว แต่ก็ยังได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อไปได้อีก รวมทั้งการขยายพื้นที่ทำเหมืองทองเพิ่มเติม เป็นปมร้อนจนกลายเป็นข้อพิพาทที่มีการฟ้องร้องกัน

 

ทั้งนี้ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน” ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่รวมตัวกันคัดค้าน โดยจัดเวที public scoping (ประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 76/2539 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แต่ถูกปิดกั้นจากตำรวจกว่า 600 นายไม่ให้เข้าร่วมเวที การเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนใน 6 หมู่บ้านจึงเป็นเรื่องราวของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ซึ่ง นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ได้เคยรายงานถึงปัญหาของการทำประชาพิจารณ์ของบริษัททุ่งคำไว้แล้ว

 

หากมองในภาพรวมของการทำเหมืองแร่แล้ว ประเทศไทยมีการทำเหมืองแร่มาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 โดยในช่วงแรกส่วนใหญ่นิยมทำเหมืองดีบุก ต่อมา พ.ศ.2444 จึงมีพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ ร.ศ.120 ซึ่งถือเป็นพระราชบัญญัติแร่ฉบับแรก กว่า 100 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการทำเหมืองแร่กว่า 40 ชนิด โดยมีแร่เศรษฐกิจอยู่ 10 ชนิด ได้แก่ ถ่านหิน ยิปซัม หินอุตสาหกรรม เฟลด์สปาร์ สังกะสี โดโลไมต์ ดีบุก ทรายแก้ว เกลือหินและโพแทซ และทองคำ

 

สำหรับเหมืองทองคำเริ่มทำครั้งแรกในปี พ.ศ.2414 แต่ทำได้ไม่นานก็ปิดกิจการไป และกลับมาทำกันอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทำเหมืองแร่ที่ได้ประทานบัตรกว่า 1,500 แปลง เฉพาะแปลงแร่ทองคำที่ได้รับประทานบัตรหรือใบอนุญาตให้ขุดแร่ได้มีทั้งหมด 33 แปลง และมีพื้นที่อีก 16 แปลงที่ได้รับอาชญาบัตรหรือใบอนุญาตสำรวจแร่

 

ด้านกลุ่มบริษัทที่ได้รับประทานบัตรมีทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่

 

บริษัท ชลสิน จำกัด มีใบประทานบัตร 10 แปลง รวม 2,604 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา ในพื้นที่ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส มีอายุประทานบัตร 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2532 – 20 กรกฎาคม 2557

 

บริษัท สมพงษ์ไมนิ่ง จำกัด มีประทานบัตร 1 แปลง พื้นที่ 239 ไร่ 29 ตารางวา ซึ่งทำดีบุกและทองคำ ที่ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อายุประทานบัตร 25 ปี ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2524 -14 กรกฎาคม 2549 ซึ่งปัจจุบันประทานบัตรสิ้นอายุแล้ว

 

บริษัท เหมืองแร่ดำรงเกียรติ จำกัด มีประทานบัตร 1 แปลง ที่ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 189 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา ได้รับประทานบัตรตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2527 – 23 พฤษภาคม 2543 ซึ่งประทานบัตรสิ้นอายุแล้ว

 

บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีทั้งหมด 14 แปลง แบ่งเป็นที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์จำนวน 6 แปลง แปลงหนึ่ง สิ้นอายุประทานบัตรแล้วตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2555 มีพื้นที่ 93 ไร่ 1 งาน 77 วา

 

อีกแปลงขนาดพื้นที่ 299 ไร่ 1 งาน 92 วา ซึ่งได้ประทานบัตรตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2543 – 18 มิถุนายน 2563

 

และอีก 4 แปลง ได้รับสัมปทานช่วง 21 กรกฎาคม 2551 – 20 กรกฎาคม 2571 รวมพื้นที่ 1,155 ไร่ 6 งาน 16 ตารางวา

 

ส่วนอีก 8 แปลงในตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ซึ่งอัคราไมนิ่งเป็นบริษัทที่ทำเหมืองแร่ทองคำใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของไทย

 

อบจ.พิจิตร ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ขนาดพื้นที่ 114 ไร่ 2 งาน 36 วา ประทานบัตรมีอายุ 6 ปี ซึ่งสิ้นอายุไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550

 

บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งทำเหมืองทองคำ เงินและทองแดง มีพื้นที่ทั้งหมด 6 แปลง 3 แปลงแรกได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2546 – 22 มกราคม 2571 รวมพื้นที่ 592 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา และอีก 3 แปลงได้รับสัมปทานช่วง 27 กันยายน 2545 – 26 กันยายน 2570 รวมพื้นที่ 697 ไร่ 5 งาน 32 วา

 

ด้านกลุ่มบริษัทที่ได้รับอาชญาบัตรมีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่

 

บริษัท อมันตา มิเนอรัลล์ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 แปลง แปลงหนึ่งอยู่ในตำบลบ้านส้อง มีพื้นที่ 8,675 ไร่ และที่ตำบลเขานิพันธ์ พื้นที่ 9,831 ไร่

 

บริษัท อมันตา จำกัด ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีพื้นที่ 4,315 ไร่ ยื่นขอเมื่อ 2 กรกฎาคม 2552

 

บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร มีทั้งหมด 4 แปลง คือตำบลวังทรายพูน 2 แปลงพื้นที่รวม 19,812 ไร่ ที่ตำบลหนองพระ 10,000 ไร่ และที่ตำบลหนองปล้องอีก 10,000 ไร่ โดยยื่นคำขออาชญาบัตรเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550

 

บริษัท รัชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก มีทั้งหมด 9 แปลง คือ ตำบลไทรย้อย 4 แปลงรวมพื้นที่ 33,465 ไร่ ตำบลบ้านมุง 2 แปลงรวมพื้นที่ 18,335 ไร่ ตำบลวังยางพื้นที่ 3,869 ไร่ และตำบลวังโพรง 2 แปลงรวมพื้นที่ 20,000 ไร่ โดยยื่นขอเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554

 

หลังจากที่บริษัททั้ง 4 แห่งนี้สำรวจแร่เรียบร้อยแล้วก็ประเมินได้ว่าปริมาณแร่ ณ พื้นที่แปลงนั้นๆ คุ้มค่าพอที่จะทำเหมืองแร่ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าจะทำเหมืองแร่จริงก็ต้องยื่นขอประทานบัตรหรือใบอนุญาตทำเหมืองแร่ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และรออนุญาตต่อไป

 

 

 

ด้านการส่งออก ทองคำที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกเกือบทั้งหมด ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกทองคำมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลก โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกทองคำรวม 2,860,219 กรัม มูลค่า 4,425.4 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2555 ผลิตได้ 4,895,021 กรัม มูลค่า 8,119.9 ล้านบาท

 

ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งแร่ทองคำไม่ถึงร้อยละ 1 ของแร่ทั้งประเทศ แต่ราคาทองคำในตลาดโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ดึงความสนใจให้นักลงทุนหันมาขุดทองกันมากขึ้น

 

ที่มา : ไทยพับลิก้า