SPECIAL FEATURES

กลุ่ม 5 ชาติเอเชีย (MITI-V) จะผงาดขึ้นเป็นแหล่งผลิตสำคัญทางเลือกใหม่ของโลกแทนที่จีน
POSTED ON 26/05/2559


รายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตทั่วโลก ประจำปี 2559 (2016 Global  Manufacturing Competitiveness Index : GMCI) ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมของดีลอยท์ โกลบอล (Deloitte Global Consumer & Industrial Products Industry group) และ คณะกรรมการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐ (US Council on Competitiveness) ระบุว่า กลุ่ม MITI-V (Mighty 5) หรือ 5 ชาติเอเชีย ซึ่งประกอบด้วย มาเลเซีย (M), อินเดีย (I), ไทย (T), อินโดนีเซีย (I) และเวียดนาม (V) มีแนวโน้มจะผงาดขึ้นมาติดกลุ่ม 15 อันดับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตของโลกภายในปี 2563 และน่าจะขึ้นมาแทนที่จีนได้ โดยพิจารณาจากแรงงานต้นทุนต่ำ ความสามารถคล่องตัวด้านการผลิต โครงสร้างด้านประชากรศาสตร์ รวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ การคาดการณ์ข้างต้นได้มาจากการวิเคราะห์เชิงลึกจากการสำรวจประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ผู้นำระดับสูงของบริษัทในธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกกว่า 500 ราย และจากการรวบรวมข้อมูลในรายงานปี 2553 และ 2556 อ้างความเห็นของผู้บริหารจากประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตในปัจจุบันและอนาคต 40 อันดับแรก และยังได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในเรื่องความสามารถแข่งขันด้านการผลิตทั่วโลกในอันดับต้นๆ อีกด้วย

 

นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ถึงแม้อันดับความสามารถในการแข่งขันของ 4 ประเทศ MITI-V ยกเว้นเวียดนาม โดยรวมระหว่างปี 2556 และ 2559 จะลดลง แต่เมื่อมองภาพรวมกลุ่มประเทศ MITI-V อาจเห็นประเทศเหล่านี้เป็นทางเลือกดึงดูดใจในแง่การเติบโตของตลาดและเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวของฐานผู้บริโภค

 

กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ยังคงดึงดูดความสนใจของผู้ผลิตทั่วโลกที่มองหาทางเลือกอื่นนอกจากจีน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะและความสามารถในการผลิตของแรงงานมีมากขึ้น รวมถึงต้นทุนแรงงานการผลิตที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับจีน

 

ความได้เปรียบอื่นๆ ที่กลุ่มประเทศ MITI-V มีให้ผู้ผลิตทั่วโลกนั้น รวมถึงแรงจูงใจทางภาษีมีมากมาย ทั้งระยะการปลอดภาษี 3 -10 ปี การยกเว้นภาษี หรือลดภาษีนำเข้า และการลดภาษีสินทรัพย์ประเภททุน และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเกี่ยวข้องกับการส่งออก

 

นายสุภศักดิ์ ระบุว่า "ในระดับโลกคาดว่าสหรัฐฯจะขึ้นเป็นประเทศมีขีดความสามารถแข่งขันทางการผลิตมากที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจีนซึ่งปัจจุบันอยู่อันดับที่ 1 จะหล่นลงมาอยู่อันดับ 2 และคำว่า “เมดอินยูเอสเอ” กำลังจะหวนกลับมา ตรงข้ามกับมุมมองที่ว่า การผลิตในสหรัฐฯลดลงตลอดเวลา การผลิตในอนาคตจะต้องมีเทคโนโลยีก้าวหน้า มีการเจริญเติบโตโดยใช้นวัตกรรมในการผลิต การผลิตจะเน้นความยั่งยืน ความอัจฉริยะและความปลอดภัย ซึ่งคาดว่าสหรัฐจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนโฉมของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต”

 

บรรดาซีอีโอให้ความเห็นในรายงานว่า เทคโนโลยีการผลิตที่มีความก้าวหน้าจะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล๊อคขีดความสามารถแข่งขันในอนาคต และจากคาดการณ์เชิงวิเคราะห์ ชี้ว่า การเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต หรือ Internet of Things (IoT) ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและโรงงานอัจฉริยะที่เป็นตัวกำหนด Industry 4.0 และวัตถุก้าวหน้าล้ำสมัยต่างๆ ซึ่งกลุ่มผู้บริหารมองว่าสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตทั่วโลก

 

ปัจจุบันสหรัฐฯอยู่ในกลุ่มประเทศอันดับต้นๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตทันสมัยล้ำหน้า รวมถึงโรงงานและสินค้าอัจฉริยะ การคาดการณ์เชิงวิเคราะห์และวัตถุต่างๆ ที่ล้ำหน้าและทันสมัยล้วนเป็นหัวใจสำคัญต่อความสามารถแข่งขันในอนาคตความล้ำหน้าของสหรัฐฯ อยู่ที่การสร้างความเชื่อมโยงผนึกรวมบุคลากร เทคโนโลยี เงินทุนและองค์กร ไว้ด้วยกัน และสร้างให้เกิดรูปแบบการจัดการระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ก่อให้เกิดคุณค่ามากมายจากการลงทุนพัฒนาและวิจัย

 

นายสุภศักดิ์ ให้ความเห็นด้วยว่า “เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ได้เปรียบประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าหลายเรื่อง ทั้งแรงงานและต้นทุนวัตถุ ส่วนประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าก็ได้เปรียบในแง่ของความสามารถและความมีประสิทธิภาพของแรงงาน อย่างสิงคโปร์เป็นประเทศที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งผลิตต้นทุนค่อนข้างสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงติดกลุ่มประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในภูมิภาคในอนาคตด้วย เพราะแรงงานที่มีการศึกษาสูง บรรยากาศการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับการลงทุน แรงจูงใจให้ทำวิจัยและพัฒนามีมากมาย สาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง และมีธรรมาภิบาลที่ดี เส้นทางของภาคการผลิตของสิงคโปร์จะได้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนในบุคคลากรมีความสามารถและนวัตกรรม”

 

ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตทั่วโลก ประจำปี 2559

อันดับ ประเทศ อันดับปี 2556 อันดับคาดการณ์อีก 5 ปีข้างหน้า
1   จีน 1 2
2   สหรัฐอเมริกา 3 1
3   เยอรมัน 2 3
4   ญี่ปุ่น 10 4
5   เกาหลีใต้ 5 6
6   อังกฤษ 15 8
7   ไต้หวัน 6 9
8   เม็กซิโก 12 7
9   แคนาดา 7 10
10   สิงคโปร์ 9 11
11   อินเดีย 4 5
12   สวิสเซอร์แลนด์ 22 19
13   สวีเดน 21 18
14   ไทย 11 14
15   โปแลนด์ 14 16
16   ตุรกี 20 17
17   มาเลเซีย 13 13
18   เวียดนาม 18 12
19   อินโดนีเซีย 17 15
20   เนเธอร์แลนด์ 23 21
21   ออสเตรเลีย 16 22
22   ฝรั่งเศส 25 26
23   เชค 19 20
24   ฟินแลนด์ - 24
25   สเปน 33 27
26   เบลเยี่ยม 27 29
27   แอฟริกาใต้ 24 25
28   อิตาลี 32 30
29   บราซิล 8 23
30   สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 30 33
31   ไอร์แลนด์ 37 31
32   รัสเซีย 28 32
33   โรมาเนีย 29 28
34   ซาอุดิอาราเบีย 34 36
35   โปรตุเกส 35 35
36   โคลัมเบีย 31 34
37   อียิปต์ 36 37
38   ไนจีเรีย - 38
39   อาร์เจนตินา 26 39
40    กรีซ 38 40

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics