SPECIAL FEATURES

EITI มาตรฐานความโปร่งใสใหม่ ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม
POSTED ON 22/10/2558


โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

โครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ หรือ EITI (Extractive Industries Transparency Initiative) คือ แนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างโปร่งใสและลดความขัดแย้ง โดยเฉพาะทรัพยากรเหมืองแร่และปิโตรเลียม โดยเสริมให้ประเทศสมาชิกจัดการประโยชน์ที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ด้วยการให้ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมารวมตัวในรูปแบบคณะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน หรือ MSG (Multi-Stakeholder Group) ช่วยเปิดเผยและสามารถเข้าถึงข้อมูลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้สัมปทาน การใช้จ่ายงบประมาณ ไปจนถึงการจัดสรรรายได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นและหาข้อตกลงร่วมกันได้

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกรณีตัวอย่างของความขัดแย้งจากการใช้ทรัพยากรที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ คือ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติด้านความมั่นคงทางพลังงาน ที่ถูกชะลอการยื่นขอสิทธิมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2558  เพื่อรอการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แต่สิ่งที่ไม่ได้ถูกชะลอไปด้วย คือ กระแสความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการเดินหน้าเปิดสัมปทานที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทั้งที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นและให้ความรู้จากหลายฝ่าย แต่ยังคงมีประเด็นที่วนเวียนถกเถียงเรื่องความถูกต้องของข้อมูล

 

กรณีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีเกณฑ์สากลในการยอมรับว่าข้อมูลมีความสมบูรณ์หรือน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ฝ่ายหนึ่งอาจเปิดเผยข้อมูลบางส่วน ขณะที่อีกฝ่ายไม่ให้ความเชื่อถือ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่วางใจ ในเรื่องความโปร่งใสและความถูกต้อง ที่มักเชื่อมโยงไปสู่การทุจริตและความขัดแย้ง

 

นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นต่อการนำ EITI มาแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติว่า “เราไม่รู้หรอกว่า EITI จะได้ผล กว่าจะเห็นผลของต้องใช้ระยะเวลาอีก 2-3 ปี โดยประมาณ แต่ก็ไม่ได้เสียหายถ้าเราจะลอง รัฐบาลเองก็ได้แสดงท่าทีตอบรับ ซึ่งสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวฝั่งของภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่กำลังตกลงกันเพื่อหาตัวแทนมาทำงานร่วมกันใน MSG”

 

การเข้าร่วมการเป็นสมาชิก EITI ประเทศไทยนับว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ตามมติ ครม. เห็นชอบไปเมื่อ วันที่ 30 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างนี้รัฐบาลต้องทำงานกับภาคประชาสังคมและเอกชนเพื่อดำเนินการจัดตั้ง MSG ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่และรายงานผลการดำเนินงาน เรื่อง EITI ตามเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกร่วมกับ 48 ประเทศอื่นๆ ในที่นี้มีประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ร่วมอยู่ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ MSG นั้น มีความน่าสนใจและแตกต่างจากกลุ่มภาครัฐและเอกชน เนื่องด้วยองค์ประกอบของตัวแทนที่หลากหลาย ทั้งเอ็นจีโอด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านต่างๆ และสื่อมวลชน ซึ่งต้องพูดคุยกันหลายครั้งเพื่อหาจุดยืนร่วมกัน ในจุดนี้เองเอ็นจีโอจะได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ลบภาพลักษณ์ที่มักเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล และลดความขัดแย้งในสังคม

 

นอกจากนี้ นายธิปไตร ยังมีมุมมองต่อภาคประชาสังคมว่า “ภาคประชาสังคมมีศักยภาพในการดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำงานด้วย คนเหล่านี้จึงเป็นฐานความรู้ที่ดี อีกทั้งด้านการเงินไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด หลายกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในสังคมได้แสดงให้เห็นว่า ภาคประชาสังคมมีบทบาทหลักในการผลักดันนโยบายจนประสบผลสำเร็จอยู่มาก”

 

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ในปี พ.ศ.2539 ที่รัฐบาลประกาศสร้างโรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซ โดยไม่ได้ฟังเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่หรือพิจารณาผลวิจัยสิ่งแวดล้อม กรณีนี้ คนในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งสุดท้ายโครงการก็ต้องถูกชะลอออกไป” นายธิปไตร กล่าว    

 

แม้ว่าภาคประชาสังคมจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ EITI เกิดขึ้นในไทยได้สำเร็จ ปัจจัยที่จะทำให้ EITI เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง คือ ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องแสดงบทบาทศักยภาพเชิงรุกในการเป็นผู้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของระบบ เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการการดำเนินโครงการด้านพลังงานและทรัพยากรอื่นๆ ของชาติ และช่วยให้ทุกภาคส่วนไม่วนเวียนหรือติดกับดักความขัดแย้งและการคอร์รัปชั่น ซึ่งสกัดกั้นการพัฒนาของประเทศ ความมั่นคงทางการเมือง และทำลายบรรยากาศความน่าลงทุนจากต่างชาติอย่างที่ผ่านๆ มาได้อีก

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics