SPECIAL FEATURES

รู้จักระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Devices - IED)
POSTED ON 18/08/2558


เหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ ในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิดจำนวนมาก โดยทางเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ตั้งขอสันนิษฐานถึงประเภทของระเบิดในครั้งนี้ว่าเป็น "ระเบิดประเภทแสวงเครื่อง" (Improvised Explosive Devices) หลายคนเคยได้ยินชื่อระเบิดประเภทนี้ แต่อาจยังไม่ทราบว่าระเบิดแสวงเครื่องคืออะไร? เขาผลิตกันอย่างไร? และมีอานุภาพในการทำลายล้างแค่ไหน? ดังนั้น เนื้อหาในบทความนี้จะช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับระเบิดแสวงเครื่อง เพื่อให้ท่านที่สนใจทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระเบิดประเภทดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

 

ระเบิดแสวงเครื่องคืออะไร

 

ระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Devices - IED) จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของ "กับระเบิด" (Body Traps) เป็นการนำเอาวัสดุที่มีอยู่หรือวัสดุที่สามารถหาได้ง่าย เช่น ปุ๋ยยูเรีย ดินระเบิด นำมาประดิษฐ์เป็นระเบิด ปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ทำให้การทำระเบิดแสวงเครื่องมีความซับซ้อนมากขึ้น และสามารถควบคุมการทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอเวลาแบบเดิม สามารถกำหนดการระเบิดได้ตามต้องการผ่านวิธีการควบคุมระยะไกล (Remote control) โดยการใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวน

 

การที่ระเบิดแสวงเครื่องสามารถประดิษฐ์จากวัสดุที่มีอยู่ทั่วไป ทำให้รูปแบบของระเบิดแสวงเครื่องมีหลายรูปแบบ และไม่มีลักษณะที่แน่นอน บางทีมาในรูปแบบของโทรศัพท์มือถือ กระถางต้นไม้ ถังขยะ รถมอเตอร์ไซค์ กล่องพัสดุ กระเป๋า ฯลฯ ทำให้ง่ายสำหรับผู้ก่อการร้ายในการจัดหาวัตถุดิบ การซุกซ่อนพกพา การประดิษฐ์ และการนำมาใช้ แต่เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการตรวจค้นและเก็บกู้วัตถุระเบิด

 

ที่มารูปภาพ : GlobalSecurity.org

 

ระเบิดแสวงเครื่องสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะของระบบการทำงานได้ 3 แบบ คือ (1) ระบบสารเคมี เป็นการใช้สารเคมีทำให้เกิดการทำงานของระเบิดแสวงเครื่อง แต่ขั้นตอนจะยุ่งยากและกำหนดเวลาแน่นอนไม่ได้ จึงไม่เป็นที่นิยมทำกัน (2) ระบบกลไก เป็นการใช้กลไกทำให้เกิดการทำงานของระเบิด เช่น การใช้ระบบนาฬิกาเป็นกลไก ระเบิดวิธีนี้นิยมใช้ข่มขู่ หรือการประสงค์ให้ตายเฉพาะบุคคล และ (3) ระบบไฟฟ้า (นิยมใช้ในภาคใต้มากที่สุด) เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ เพจเจอร์ โทรศัพท์ไร้สาย รีโมตคอนโทรล รถยนต์ รถหรือเครื่องบินวิทยุบังคับ นำมาประกอบเชื้อปะทุไฟฟ้าและวัตถุระเบิด ซึ่งระเบิดแสวงเครื่องแบบนี้เป็นที่นิยมกัน มาก เนื่องจากทำได้ง่าย สามารถควบคุมจังหวะการทำงานและกำหนดเวลาในการทำงานได้แน่นอน

 

สำหรับวัตถุระเบิดทำเองนั้นในการผลิตต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ชนิด คือ "ตัวให้ออกซิเจน" และ "เชื้อเพลิง" โดยตัวให้ออกซิเจน (oxidizer) เป็นสารที่มีออกซิเจนอยู่มาก ซึ่งสามารถคายออกซิเจนเมื่อได้รับความร้อน ได้แก่ สารพวกไนเตรท คลอเรต และเกลือเปอร์แอซิดต่างๆ เช่น เปอร์คลอเรต เปอร์ซัลเฟต เปอร์คาร์บอเนต หรือเปอร์บอเรต ซึ่งสามารถหาได้ง่ายและมีแหล่งจำหน่ายอยู่ทั่วไป ส่วนเชื้อเพลิงนั้นมีหลายอย่างที่หาได้ง่ายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด มีทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลว

 

 

ระเบิดแสวงเครื่องทำงานอย่างไร

 

1. ทำงานจากการกระทำของเหยื่อ : เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ต้องอาศัยบุคคลหรือสิ่งอื่นๆ มากระทำ เพื่อให้เกิดการระเบิด เช่น ยกระเบิด เปิดระเบิด หรือเอียงระเบิด

 

2. การทำงานแบบบังคับชุด : เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่สามารถควบคุมการทำงานได้จากระยะไกล (Remote Control) เช่น วิทยุรับส่ง หรือโทรศัพท์มือถือ ผู้ที่ประดิษฐ์ระเบิดแบบนี้จะต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างดี โดยโทรศัพท์มือถือที่นิยมใช้ในการทำระเบิดคือ "โนเกีย 3310" (nokia-3310) เนื่องจากแผงวงจรสามารถทำระเบิดได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อย่างอื่นมาพ่วง แต่โทรศัพท์มือถือรุ่นอื่นก็ใช้ในการทำระเบิดได้ เพียงแต่ต้องหาอุปกรณ์พ่วง หรือบางรุ่นก็อาจมีกำลังไฟไม่เพียงพอ

 

3. การทำงานแบบถ่วงเวลา ใช้อุปกรณ์ตั้งเวลาการทำงาน เช่น ใช้นาฬิกา หรือวงจรนับแบบอิเล็กทรอนิกส์

 

4. การทำงานแบบอาศัยสภาพแวดล้อม เช่น เมื่อโดนแสงสว่าง หรือมีเสียงดัง

 

ที่มารูปภาพ : M49.us

 

วิธีสังเกตระเบิดแสวงเครื่อง

 

เนื่องจากระเบิดแสวงเครื่องมีลักษณะภายนอกเหมือนกับวัสดุหรือของใช้ทั่วไป ทำให้การสังเกตหรือการพิสูจน์เพื่อให้ทราบว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องนั้นค่อนข้างทำได้ยาก แต่จะมีข้อพิจารณาในเบื้องต้น ดังนี้

 

1. เป็นวัตถุที่ไม่มีเจ้าของหรือหาเจ้าของไม่พบ เช่น มีของแปลกปลอมมาวางอยู่ และสอบถามไม่พบเจ้าของ เช่น มีกระเป๋าเดินทางที่สนามบิน แต่สอบถามไม่พบว่ามีเจ้าของ หรือมีกล่องไปวางตามตลาด แต่ไม่มีเจ้าของคอยดู เป็นต้น

 

2. เป็นวัตถุมีลักษณะภายนอกผิดปกติหรือผิดจากรูปแบบเดิม เช่น กล่องมีร่องรอยเปรอะเปื้อน กล่องปิดผนึกไม่เรียบร้อย หรือมีรอยผนึกใหม่ มีรอยยับต่างๆ หรือมีสีที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

 

3. เป็นวัตถุที่ควรจะอยู่ในที่อื่นมากกว่าจะอยู่ตรงนั้น เช่น กล่องข้าวไปวางในห้างสรรพสินค้า หรือถังขยะไปวางตรงสี่แยกไฟแดง หรือมีกระถางต้นไม้ไปวางในดงต้นไม้ที่ไม่มีกระถางต้นไม้ เป็นต้น

 

4. เป็นวัตถุที่ไม่เคยพบเห็น ณ ที่ตรงนั้นมาก่อน เช่น มีถังขยะไปวางตรงทางเดินที่ไม่เคยมีถังขยะมาก่อน หรือมีกระเป๋า กล่องกระดาษ กล่องพลาสติก กล่องโฟม หรือสิ่งแปลกปลอมไปวางในสถานที่ที่ไม่เคยมีของไปวาง

 

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่การพิจารณาเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น ทุกคนควรจะหมั่นสังเกตว่ามีสิ่งแปลกปลอมอะไรเข้ามาวางในบริเวณที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานหรือไม่ ซึ่งควรจะจัดข้าวของให้เป็นระเบียบ เพื่อจะได้สังเกตเห็นสิ่งแปลกปลอมได้ง่าย

 

เมื่อพบระเบิดแสวงเครื่องหรือวัตถุต้องสงสัยจะทำอย่างไร

 

1. ห้ามจับต้อง หยิบยกเคลื่อนย้าย ทำให้สั่นสะเทือน หรือเคลื่อนไหวโดยเด็ดขาด

 

2. สอบถามหาเจ้าของวัตถุต้องสงสัย หากไม่มีผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าของ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าวัตถุต้องสงสัย อาจจะเป็นวัตถุระเบิด

 

3. จดจำลักษณะทั่วไปของวัตถุต้องสงสัยและบริเวณพื้นที่ที่พบเห็น เพื่อเป็นข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด อาทิ ขนาด รูปร่าง และลักษณะบ่งบอกอื่นๆ เช่น มีเสียงการทำงาน มีสายไฟฟ้าหรือไม่ เป็นต้น

 

4. รายงานให้ผู้รับผิดชอบสถานที่นั้นทราบ โดยรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการต่อไป

 

5. อพยพผู้คนออกจากอาคารสถานที่นั้นโดยด่วน ด้วยวิธีนุ่มนวล เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นกลัว

 

6. กำหนดเขตอันตรายและป้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ให้เข้าไปในเขตอันตราย โดยใช้การประมาณการณ์จากขนาดของวัตถุต้องสงสัย สำหรับระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็กจะต้องปิดกั้นระยะโดยรอบประมาณ 100 เมตร ส่วนระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่หรือรถยนต์ระเบิดจะต้องปิดกั้นระยะโดยรอบประมาณ 400 เมตร

 

7. ผู้พบเห็นวัตถุต้องสงสัยให้รอให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด

 

การลดอันตรายจากการระเบิด

 

1. เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบสถานที่สามารถดำเนินการเพื่อลดอันตรายได้โดยการจัดหายางรถยนต์ขนาดที่เหมาะสม (ไม่ใหญ่เกินไป) จำนวน 3–4 เส้น เพื่อครอบวัตถุต้องสงสัยไว้ แต่วิธีนี้ผู้เข้าไปครอบจะมีความเสี่ยงถ้าระเบิดเกิดการทำงาน

 

2. การใช้รถเข็นขนาดเล็ก (กว้าง 1 เมตร หรือ ไม่เกิน 2 เมตร) บรรทุกกระสอบทราย แล้วใช้ไม้ดันรถให้ไปใกล้ๆ สิ่งของต้องสงสัย ถ้ามีระเบิดแรงระเบิดจะถูกลดทอนลงโดยกระสอบทราย วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยสูงสุด

 

3. ต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเท่านั้น และอย่าให้สิ่งของต้องสงสัยถูกกระทบกระเทือนเป็นอันขาด

 

ที่มา : ฐานข้อมูลข่าวจังหวัดชายแดนใต้ 

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing