SPECIAL FEATURES

กำหนดทิศทางความรู้แรงงาน ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจมากขึ้น
POSTED ON 12/02/2558


โดย ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ

 

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสัดส่วนการเติบโตในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2547-2557 ที่ผ่านมาของตลาดแรงงงานไทยในภาพรวมว่า โครงสร้างแรงงานของไทยมีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีจำนวนการจ้างงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะผันผวนบ้าง ซึ่งเป็นไปในทิศทางบวก เห็นได้จากสัดส่วนจำนวนแรงงานไทยในระบบ 38.42 ล้านคน พบว่า ในกลุ่มลูกจ้างเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดแรงงานมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน รวมเป็น 14.12 ล้านคน

 

รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจส่วนตัวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน รวมเป็น 12.39 ล้านคน และกลุ่มที่มีความผันผวน คือกลุ่มช่วยธุรกิจครอบครัว ซึ่งพบว่ามีจำนวนลดลงราว 50,000 คน มาอยู่ที่ 7.33 ล้านคน จากการผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการ/ธุรกิจส่วนตัว ส่วนลูกจ้างภาครัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน เป็น 3.05 ล้านคน ตามลำดับ

 

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 3/2557 เกี่ยวกับอัตราเติบโตเฉลี่ยของแรงงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ พบว่า ภาคการเกษตรมีลูกจ้างลดลงจำนวนมากที่สุดถึง 4.5% อันเนื่องมาจากแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรน้อยลง จากทัศนคติที่เห็นว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นงานที่หนัก ราคาผลผลิตไม่แน่นอน ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปสู่การทำงานเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการ ซึ่งมีเงินเดือนเป็นรายได้ประจำที่แน่นอนมากขึ้น

 

ขณะที่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม พบว่า เติบโตที่ 1.3% โดยหลายสาขายังเติบโตไปในทิศทางค่อนข้างบวก ยกเว้นอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้แรงงานระดับล่างมากถึง 40% หรือประมาณ 1 แสนคนต่อปี ส่งผลให้เกิดแรงงานตึงตัว เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ดังนั้น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการที่ควรนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะที่ในภาคบริการซึ่งในภาพรวมพบว่า การเติบโตของการจ้างงานเป็นไปค่อนข้างสูงที่สุด เฉลี่ย 2.6% ต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

จากสถิติดังกล่าวหากมองให้ลึกถึงปัญหาการว่างงานที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยถือว่ามีอัตราการว่างงานน้อยลง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของการจ้างงานในตลาดแรงงาน กลับเป็นสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากมีการผลิตบุคลากรของสถานศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการในสาขาที่ขาดแคลน ส่งผลให้เกิดปัญหาแรงงานตึงตัวตามมา

 

รวมทั้งสถานศึกษายังมีการเรียนการสอนรายวิชาที่ไม่ตอบสนองต่อบริบทชุมชน ทำให้กลุ่มแรงงานซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเข้าไปหาแหล่งจ้างงานใหญ่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

 

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงานของทีดีอาร์ไอ เสนอแนะถึงมาตรการการลดจำนวนแรงงานที่ล้นตลาดและขาดแคลนในบางสาขาว่า ต้องส่งเสริมให้เยาวชนหันมาสนใจเรียนสายอาชีพมากขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันควรกำหนดทิศทางองค์ความรู้ในการเปิดสอนวิชาเรียนที่ตอบโจทย์บริบทชุมชน และปรับทัศนคติของผู้เรียนเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างหนักไปยังจุดใดจุดหนึ่ง รวมทั้งในส่วนของตัวแรงงานที่กำลังเข้าสู่ระบบการทำงานควรเรียนรู้ทักษะในด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น จึงต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือและความรู้เชิงเทคนิค และความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นจุดแข็งที่เปิดโอกาสให้แรงงานสามารถแข่งขันเป็นที่ต้องการของตลาดที่หลากหลายและมากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสของแรงงานไทยในเวทีอาเซียน