SPECIAL FEATURES

ผลกระทบของการปรับราคาขายปลีก LPG ต่อระบบเศรษฐกิจ
POSTED ON 11/06/2557


 

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลงานวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์ผลกระทบของการปรับราคาขายปลีก LPG ต่อระบบเศรษฐกิจด้วยแบบจำลอง CGE" ซึ่งงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในการปรับราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง ให้เป็น 24.83 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้แบบจำลอง Computable general equilibrium (CGE model) หรือแบบจำลองคำนวณดุลยภาพทุกส่วน

 

ในส่วนแรกจะเป็นการวิเคราะห์ว่าหลังจากที่มีการปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบันซึ่งทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นจาก 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 22.63 บาทต่อกิโลกรัม นั้นจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในปี 2557 อย่างไรบ้าง

 

สำหรับในส่วนที่ 2 จะเป็นการวิเคราะห์ว่าหลังจากนี้หากมีการปรับราคาขายปลีก LPG ในภาคครัวเรือนและภาคขนส่งเป็น 24.83 บาทต่อกิโลกรัม เศรษฐกิจในปี 2558 จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องอย่างไรบ้าง

 

ในส่วนแรกผลของการปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขึ้นจาก 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 22.63 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเศรษฐกิจปี 2557 สรุปได้ดังนี้ GDP ณ ราคาคงที่ จะลดลง 0.03% จากแนวโน้มเดิม (เช่น ถ้าคาดว่า เศรษฐกิจปี 2557 จะโต 3.00% ด้วยผลของการปรับราคาก๊าซหุงต้ม เศรษฐกิจปี 2557 จะโต 2.97%) ขณะที่ GDP ที่เป็นตัวเงิน เพิ่มขึ้น 0.04% (หรือเพิ่มขึ้น 4,760 ล้านบาท) ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.09% การบริโภคครัวเรือน ณ ราคาคงที่ ลดลง 0.13% การบริโภคครัวเรือนที่เป็นตัวเงินลดลง 0.04% (หรือลดลง 2,593 ล้านบาท) อรรถประโยชน์หรือความพอใจครัวเรือนลดลง 0.39% ชั่วโมงการจ้างงานลดลง 0.05% ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มของครัวเรือนลดลง 18.45% ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มของภาคบริการลดลง 22.03% การนำเข้า LPG ลดลง 5.92% (อัตราการนำเข้า LPG มีแนวโน้มจะลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี) การใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.04% และการใช้ถ่านและฟืนของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.90%

 

สาขาเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย 5 อันดับแรก ได้แก่ ฟืนและถ่าน ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า และโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน

 

ขณะที่สาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบจากนโยบายมากที่สุด ได้แก่ ค้าปลีก (โดยเฉพาะค้าปลีกก๊าซหุงต้ม) และภาคบริการ (โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร)

 

ผลของการปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขึ้นจาก 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 22.63 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเศรษฐกิจปี 2557

 

ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ

% การเปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเดิม

  GDP ณ ราคาคงที่ (Real GDP)

-0.03

  GDP ที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP)

+0.04

  ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

+0.09

  การบริโภคครัวเรือน ณ ราคาคงที่

-0.13

  การบริโภคครัวเรือนที่เป็นตัวเงิน

-0.04

  อรรถประโยชน์ครัวเรือน (Utility)

-0.39

  ชั่วโมงการจ้างงานเฉลี่ย

-0.05

  ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มของครัวเรือน

-18.45

  ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มของภาคบริการ

-22.03

  การนำเข้า LPG  

-5.92

  การใช้ไฟฟ้าของภาครัวเรือน

+3.04%

  การใช้ถ่านและฟืนของครัวเรือน

+1.90

 

สาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุดต่อผลตอบแทนจากการลงทุนจากแนวโน้มเดิม ในปี 2557 จากการปรับราคาก๊าซหุงต้ม

 

อุตสาหกรรมที่ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมที่ได้ผลตอบแทนลดลง

  ฟืนและถ่าน  

  ค้าปลีก (โดยเฉพาะค้าปลีกก๊าซหุงต้ม)

  ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

  ภาคบริการ (โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร)

  ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

 

  ป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า

 

  โรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน

 

 

ผลของการปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขึ้นจาก 22.63 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 28.43 บาทต่อกิโลกรัม และ ราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่ง ขึ้นจาก 21.38 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 28.43 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเศรษฐกิจปี 2558

 

ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ

% การเปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเดิม

  GDP ณ ราคาคงที่ (Real GDP)

-0.009

  GDP ที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP)

+0.007

  ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)

+0.03

  การบริโภคครัวเรือน ณ ราคาคงที่

-0.08

  การบริโภคครัวเรือนที่เป็นตัวเงิน

-0.05

  อรรถประโยชน์ครัวเรือน (Utility)

-0.24

  ชั่วโมงการจ้างงานเฉลี่ย

-0.01

  ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มของครัวเรือน

-8.65

  ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มของภาคบริการ

-10.40

  ปริมาณการใช้ LPG ของภาคขนส่งทางถนน

-16.98

  ปริมาณการใช้ LPG ของรถยนต์ส่วนตัว

-18.71

  การนำเข้า LPG   

-5.84

  การใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน

+1.31

  การใช้ถ่านและฟืนของครัวเรือน

+0.87

  การใช้เชื้อเพลิงของภาคขนส่งทางถนน

-0.48

  การใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์ส่วนตัว

-0.13

 

สาขาเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบมากสุดต่อผลตอบแทนจากการลงทุนจากแนวโน้มเดิม ในปี 2558 หากปรับราคา LPG ตามเป้าที่ 28.43 บาทต่อกิโลกรัม

 

อุตสาหกรรมที่ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมที่ได้ผลตอบแทนลดลง

  ฟืนและถ่าน

  ค้าปลีก (โดยเฉพาะค้าปลีก LPG)

  ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

  ขนส่งทางถนน

  ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน  

  ภาคบริการ (โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร)

  โรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน

 

  ไบโอดีเซลและเอทานอล

 

 

ในส่วนที่ 2 คาดการณ์ผลของนโยบายปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขึ้นจาก 22.63 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 28.43 บาทต่อกิโลกรัมและ ราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่ง ขึ้นจาก 21.38 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 28.43 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเศรษฐกิจปี 2558 สรุปได้ดังนี้

 

GDP ณ ราคาคงที่ จะลดลงเพียง 0.009% จากแนวโน้มเดิม GDP ที่เป็นตัวเงิน เพิ่มขึ้น 0.007% (หรือ 833 ล้านบาท) ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.03% การบริโภคครัวเรือน ณ ราคาคงที่ ลดลง 0.08% การบริโภคครัวเรือนที่เป็นตัวเงินลดลง 0.05% % (หรือ 3,238 ล้านบาท) อรรถประโยชน์หรือความพอใจครัวเรือนลดลง 0.24% ชั่วโมงการจ้างงานลดลง 0.01% ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มของครัวเรือนลดลง 8.65% ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มของภาคบริการลดลง 10.40% การนำเข้า LPG ลดลง 5.84% การใช้ไฟฟ้าของภาครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.31% การใช้ถ่านและฟืนของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.87% การใช้เชื้อเพลิงของภาคขนส่งทางถนนลดลง 0.48% และการใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์ส่วนตัวลดลง 0.13%

 

สาขาเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย 5 อันดับแรก ได้แก่ ฟืนและถ่าน ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน และไบโอดีเซลและเอทานอล

 

ขณะที่สาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบจากนโยบาย 3 อันดับแรก ได้แก่ ค้าปลีก (โดยเฉพาะค้าปลีก LPG) ขนส่งทางบก และภาคบริการ (โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร)

 

สรุป : การปรับราคาขายปลีก LPG จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคเพียงเล็กน้อย โดยการเติบโตของเศรษฐกิจที่แท้จริงและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนลดลง รวมถึงชั่วโมงการจ้างงานโดยเฉลี่ยลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้อรรถประโยชน์หรือความสุขของครัวเรือนลดลง ดังนั้น การที่รัฐมีมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อยและกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยในการใช้ก๊าซหุงต้มราคาถูกจึงเป็นมาตรการที่บรรเทาผลกระทบที่ตรงจุดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

ในส่วนของระดับจุลภาคพบว่า ปริมาณการใช้ LPG ของครัวเรือน ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจขนส่งทางถนน ลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้การใช้พลังงานในภาคขนส่งลดลง การนำเข้า LPG มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันก็มีการหันไปใช้พลังงานอื่นๆ เช่น ถ่านและฟืน ไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ

 

ข้อเสนอแนะ : กองทุนน้ำมันมีประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในประเทศไม่ให้ผันผวนสูง แต่ไม่ควรใช้เพื่อการบิดเบือนกลไกราคาพลังงานมากเกินไปซึ่งในท้ายที่สุดจะเกิดปัญหาสะสมตามมาและแก้ไขได้ยากในภายหลัง ดังนั้น รัฐบาลควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกและโครงสร้างภาษีเชื้อเพลิงที่เหมาะสม รวมถึงสอดคล้องกับการส่งเสริมพลังงานทดแทนต่างๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ