SPECIAL FEATURES

ผลการศึกษาของอะโดบีเผยความเชื่อมโยงระหว่าง ?การจ้างงาน? กับ ?ความคิดสร้างสรรค์?
POSTED ON 30/04/2557


อะโดบี (Adobe) เผยผลการศึกษาในหัวข้อ "การศึกษา ความคิดสร้างสรรค์ และการจ้างงาน" ในการประชุมประจำปี Adobe Education Leadership Forum ครั้งที่ 9 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายน 2557 โดยมีคณาจารณ์และนักการศึกษา 1,531 คนจาก 13 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ร่วมตอบแบบสอบถามเพื่อวัดระดับความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ในการศึกษา รวมถึงบทบาทในการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านดิจิตอล

 

ผลการศึกษานี้เปิดเผยประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน คณาจารณ์และนักการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเห็นพ้องต้องกันว่า "การแสดงความคิดสร้างสรรค์" (Creative Expression) คือสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกคน ไม่ว่าจะเรียนอยู่ในสาขาวิชาใดก็ตาม มีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกว่าเครื่องมือสร้างสรรค์จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจแนวคิดทางทฤษฎีได้ดีกว่า และปรับปรุงความเข้าใจโดยรวมในห้องเรียน

 

ผลการศึกษาของปีนี้ยังเผยให้เห็นว่าคณาจารย์และนักการศึกษามีความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าทักษะพื้นฐานทางด้านดิจิตอลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับบุคลากรในศตวรรษที่ 21 โดย 58 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 47 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยว่านักศึกษาที่มีทักษะความชำนาญในดิจิตอลมีเดียมีโอกาสที่จะได้งานทำมากกว่า โดยจะมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันเหนือกว่า

 

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษานี้ยังแสดงถึงช่องว่างในระบบการศึกษาปัจจุบัน โดย 87 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ตนเองไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอต่อการแสดงความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งบ่งบอกอย่างชัดเจนว่านักศึกษาไม่ได้รับทักษะที่จำเป็นสำหรับสถานที่ทำงานสมัยใหม่อย่างเพียงพอ

 

ปีเตอร์ แมคอัลไพน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการศึกษาของอะโดบีประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า "ทุกวันนี้ เราเข้าใจว่าการผสานรวมทักษะทางด้านวิชาการและความคิดสร้างสรรค์จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับบุคลากรในโลกดิจิตอล อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาท้าทายใหม่ที่เราต้องเผชิญในปัจจุบันก็คือ การลดช่องว่างในระบบการศึกษาของเรา และเชื่อมโยงทักษะทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ถึงเวลาแล้วที่นักการศึกษาหรือคณาจารย์จะต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดแนวทางในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยจะต้องทำให้แน่ใจว่านักศึกษาไม่ได้เป็นเพียงผู้บริโภคเนื้อหาดิจิตอลเท่านั้น หากแต่ยังมีความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาดังกล่าวอีกด้วย"

 

การเปรียบเทียบผลสำรวจจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจจากประเทศต่างๆ พบว่าคณาจารย์และนักการศึกษาในออสเตรเลียและเกาหลีใต้ระบุว่ามีปัญหาช่องว่างในระบบการศึกษาปัจจุบันในเรื่องของการผสานรวมความคิดสร้างสรรค์เข้ากับวิชาการมีจำนวนมากกว่า อย่างไรก็ตามผู้ตอบแบบสอบถามในออสเตรเลียมีความเชื่อเกี่ยวกับบทบาทของเครื่องมือสร้างสรรค์ และความสำคัญของทักษะดิจิตอลมีเดีย แต่ผู้ตอบแบบสอบถามในเกาหลีใต้ไม่ได้เชื่อเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมากนัก คณาจารย์และนักการศึกษาในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีทัศนคติแง่ลบมากเกี่ยวกับความสามารถในการผสานรวมความคิดสร้างสรรค์เข้ากับการเรียนการสอนในห้องเรียนของระบบการศึกษาปัจจุบัน

 

คณาจารย์และนักการศึกษาในอินเดียสนับสนุนความจำเป็นในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน รวมถึงการใช้เครื่องมือครีเอทีฟเพื่อแสดงแนวคิดอย่างชัดเจน

 

คณาจารย์และนักการศึกษาจากจีนและเกาหลีใต้ไม่ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องความจำเป็นสำหรับทักษะพื้นฐานด้านดิจิตอลมีเดียของบุคลากรมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมบางประการในส่วนที่เกี่ยวกับความคาดหวังของตลาดแรงงาน ตามรายละเอียดในตารางด้านล่างนี้

 

เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความในแบบสอบถาม

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด

ANZ

จีน

อินเดีย

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกาหลีใต้

การแสดงความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษาทุกคน ไม่ว่าจะในหลักสูตรใดก็ตาม

64%

62%

65%

71%

59%

65%

หากนักการศึกษาใช้เครื่องมือครีเอทีฟ ก็จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจแนวคิดได้ดีขึ้น

54%

58%

57%

70%

62%

45%

ระบบการศึกษาปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการแสดงความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการ

37%

38%

37%

31%

28%

39%

ทักษะพื้นฐานด้านดิจิตอลมีเดียมีความจำเป็นต่อบุคลากรในศตวรรษที่ 21

58%

68%

53%

66%

62%

50%

นักศึกษาที่มีทักษะความชำนาญด้านดิจิตอลมีเดียมีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานมากกว่า

47%

49%

50%

44%

52%

46%

 

 

จากความเชื่อมโยงระหว่างความคิดสร้างสรรค์และการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น ริชาร์ด ออลเซ่น ที่ปรึกษาด้านการศึกษาจากออสเตรเลีย กล่าวว่า "ความคิดสร้างสรรค์จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เพราะจะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า และรับมือกับปัญหาที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของเราได้อย่างมั่นใจ เพราะบุคลากรทั่วโลกของเรากำลังเปลี่ยนย้ายจากงานที่ใช้แรงไปสู่งานที่ใช้สมอง ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ผมหวังว่าทางสถานศึกษาจะให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่"

 

การศึกษาในหัวข้อ "การศึกษา ความคิดสร้างสรรค์ และการจ้างงาน" อ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของคณาจารย์และนักการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยครอบคลุม 13 ประเทศ (ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และ ประเทศไทย) การสำรวจความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตดำเนินการระหว่างวันที่ 7 มีนาคม ถึง 18 มีนาคม 2557 ผู้ตอบแบบสอบถามได้แก่คณาจารย์และนักการศึกษาในระดับชั้นประถม มัธยม และอุดมศึกษา