SPECIAL FEATURES

แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนของอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศเพิ่มสูงขึ้น 6% ในปี 2557
POSTED ON 09/04/2557


 

จากรายงานผลสำรวจเรื่องแนวโน้มทรัพยากรบุคคลและประเด็นท้าทายของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2557 (Thailand 2014 Q1 Flash Survey, HR Trends and Challenging Issues for General Industry) ซึ่งจัดทำโดย ทาวเวอร์ส วัทสัน (Towers Watson) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก ระบุว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยมีการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น 5.4% ในปี 2556 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 6% ในปี 2557 (อ้างอิงจากกราฟแสดงอัตราการเพิ่มของเงินเดือนตามระดับตำแหน่งพนักงานในปี 2556-2558)

 

กราฟแสดงอัตราการเพิ่มของเงินเดือนตามระดับตำแหน่งพนักงานในปี 2556-2558

 

จากข้อมูลอัตราเงินเดือนของพนักงานระดับเริ่มต้น ปี 2556 พบว่า กลุ่มผู้ที่จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาด้านการวิจัยและพัฒนามีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดที่ 18,000 บาทต่อเดือน

ผลการสำรวจยังระบุ อัตราการเข้า-ออกของพนักงาน (turnover rate) สูงที่สุดถึง12.5% ในปี 2555 และ 12.8% ในปี2556 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการรายงานในช่วง 4 ปีก่อนหน้า โดยธุรกิจที่มีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจประกันภัย 20% ตามด้วยกลุ่มธุรกิจด้านการเงิน 18% และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์17.3% โดยค่าเฉลี่ยอัตราการเข้า-ออกของพนักงานอยู่ที่ 9.35% ในช่วงปี 2551 ถึง 2554

 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังเผยว่า สาขางานด้านวิศวกรรมศาสตร์ และงานขายเป็นกลุ่มที่บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญกับประเด็นเรื่องการดึงดูดและการรักษาพนักงานมากที่สุด ซึ่งการรักษาคนเก่งนั้นถือเป็นประเด็นท้าทายอันดับหนึ่งของHR ติดต่อกันในปี 2556 และ 2557 (อ้างอิงจากตารางเปรียบเทียบประเด็นท้าทายของ HR ในปี 2556 และ 2557) เนื่องจากตัวเลขอัตราการเข้า-ออกของพนักงานในสองปีดังกล่าวนี้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนหน้า

 

คุณพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาวเวอร์ส วัทสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บุคลากรที่มีศักยภาพสูงนั้นหายาก นี่จึงเป็นความท้าทายหนึ่งของแต่ละองค์กรในการบริหารจัดการคนเก่งเพื่อให้องค์กรมีขีดความสามารถที่จะแข่งขันได้”

 

ตารางเปรียบเทียบประเด็นท้าทายของ HR ในปี 2556 และ 2557

 

นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ได้เผยถึงกลยุทธ์ในการรับมือกับปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ สถานการณ์รุนแรงทางการเมือง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งผลสำรวจ 3 อันดับแรก ได้แก่ ทบทวนกลยุทธ์ทางการตลาด (45%), ทบทวนนโยบายด้านความปลอดภัยและการแก้ไขปัญหาในการทำงาน (44%) และอนุมัติการทำงานนอกสถานที่ (42%) ในขณะที่บริษัทส่วนน้อยเพียง 7% เลือกการปลดพนักงานออก

 

“บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับการประเมินปัจจัยภายนอกมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ดังนั้น การวางแผนกลยุทธ์จึงมีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เพื่อให้แน่ใจได้ว่าพนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง” คุณพิชญ์พจี กล่าว

 

และการสำรวจยังสอบถามถึงกลยุทธ์การรักษาคนเก่งของบริษัทต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2015 ที่จะถึงนี้ ผลสำรวจที่มาเป็นอันดับหนึ่งถึง 65% คือ การจัดอบรมทางภาษาให้แก่พนักงาน ตามด้วยอันดับสอง 58% คือ การพัฒนาความพร้อมของผู้นำ

 

“เมื่อเปิด AEC จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหารคือต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติเหล่านี้” คุณพิชญ์พจี กล่าวในตอนท้าย

 

เกี่ยวกับการสำรวจ

 

การสำรวจเรื่องแนวโน้มทรัพยากรบุคคลและประเด็นท้าทายของอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2557 (Thailand 2014 Q1 Flash Survey, HR Trends and Challenging Issues for General Industry) ดำเนินการช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2557 โดยมีบริษัทต่างๆ เข้าร่วม 93 บริษัท ครอบคลุมอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมการเงิน, ธุรกิจประกันภัย, โรงงานอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยรายงานผลสำรวจนี้ได้ข้อสรุปที่สัมพันธ์กับผลการสำรวจค่าตอบแทน ประจำปี 2556 (2013 Total Rewards Survey)ที่ดำเนินการก่อนหน้า ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2556

 

ผลการสำรวจค่าตอบแทน (Total Rewards Survey) ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนปัจจุบัน และทิศทางของสวัสดิการของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย โดยในปี 2556 มีกว่า 170 บริษัทที่เข้าร่วม จุดมุ่งหมายคือช่วยธุรกิจวางแผนบริหารจัดการผลตอบแทนโดยรวมแก่พนักงาน ซึ่งข้อมูลจากผลสำรวจจะช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดอัตราเงินเดือนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ทั้งนี้ยังช่วยในการกำหนดอัตราเงินเดือนว่าจ้างเริ่มต้น และสามารถพิจารณาปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานที่มีบทบาทสำคัญในอัตราที่เหมาะสม