MOVEMENT NEWS

สนง.ดิจิทัล เผยผลสำรวจพบคนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงเน็ตเคลื่อนที่มากกว่าเน็ตบ้าน
POSTED ON 09/12/2563


 

 

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เผยผลการศึกษาและจัดทำดัชนีตัวชี้วัดการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2563 (Thailand Digital Outlook 2020) ภายใต้โครงการศึกษาวิจัย Thailand Digital Outlook ระยะที่ 2 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 77 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นบุคคลทั่วไป 32,967 ตัวอย่าง และบริษัท 3,178 ตัวอย่าง

จากผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงส่วนใหญ่จำนวนผู้ใช้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่มากกว่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยในปี 62 โดยเฉลี่ยคนไทยมีปริมาณการใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Mobile Data) ปีละ 11.8 กิกะไบต์/เดือน/คน

ผลสำรวจสะท้อน 8 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การเข้าถึง (Access) ได้แก่ การเข้าถึงและเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ชี้วัดการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ เพราะสะท้อนถึงความสามารถในการเชื่อมต่อและรับบริการออนไลน์ต่างๆ มากน้อยของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ พบว่า 37.3% ติดตั้งและใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบประจำที่ (อินเตอร์เน็ตบ้าน) แต่ส่วนใหญ่ราว 82.2% มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่ (ผ่านอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ)

และ 52.2% มีสัดส่วนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบประจำบ้านใช้ความเร็วสูงกว่า 30 Mbps, 85.1% ของภาคธุรกิจมีการติดตั้งและใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบประจำที่ (อินเทอร์เน็ตสำนักงาน) โดย 78.4% สัดส่วนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงกว่า 30 Mbps

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศแบบประจำที่อยู่ที่ราว 9.7 ล้านคน และจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศไทยแบบเคลื่อนที่อยู่ที่ราว 58.6 ล้านคน

สดช.ระบุว่า สัดส่วนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบประจำที่ของไทยถือว่าเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากเมื่อ 5 ปีก่อน โดยเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) ที่ 13.8% ต่อปี และสำหรับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่ มีการเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ 7.2% ต่อปี

โดยในปี 62 โดยเฉลี่ยคนไทยมีปริมาณการใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Mobile Data) ปีละ 11.8 กิกะไบต์/เดือน/คน (การใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่)

มิติที่ 2 การใช้งาน (Use) การใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนสะท้อนให้เห็นการดำเนินกิจกรรมดิจิทัลและกิจกรรมออนไลน์ในด้านต่างๆ พบว่ากลุ่มคนในช่วงอายุ 0-19 ปี , 20-29 ปี และ 30-39 ปี เป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด โดยในช่วงที่เกิดโควิดที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าคนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยเกือบ 1 ชั่วโมง/วัน

ด้านกิจกรรมต่างๆ พบว่า คนไทยราว 35.3% ใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐ เช่น การชำระค่าสาธารณูปโภคออนไลน์ การยื่นภาษีออนไลน์ สำหรับในภาคธุรกิจพบว่าใช้บริการภาครัฐออนไลน์อยู่ที่เฉลี่ย 48.2% ส่วนใหญ่เป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นภาษี/ส่งข้อมูลทางบัญชี การส่งข้อมูลลูกจ้าง และการชำระค่าสาธารณูปโภค และผู้ประกอบการไทย 29.9% ใช้ช่องทางออนไลน์ในการจัดจำหน่ายสินค้า/บริการ โดยเฉพาะที่พักแรม การผลิตคอมพิวเตอร์ ข้อมูลข่าวสาร การขายส่ง/ขายปลีก บริการอาหาร และการผลิตอาหารและเครื่องนุ่งห่ม

ภาคธุรกิจไทยบางส่วน เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้บ้างแล้ว เช่น การใช้เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud) และการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) โดยพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบทั้งหมดมีการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับการประกอบธุรกิจ

จากข้อมูลผู้ใช้งานในโครงข่ายโครงการเน็ตประชารัฐระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.63 พบว่าโดยส่วนใหญ่ 57% ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน เฟซบุ๊กมากที่สุด ตามด้วยยูทูป กูเกิ้ล เสริ์ช และแอปพลิเคชันต่างๆ นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า 33.4% สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตของโครงการเน็ตประชารัฐ แต่เพียงประมาณ 51.6% ของผู้ตอบกลุ่มดังกล่าวระบุว่าเคยใช้บริการ

มิติที่ 3 นวัตกรรม (Innovation) การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวชี้วัดใช้ในการบ่งชี้การกระจายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Diffusion) ในภาคเศรษฐกิจ โดยในปี 61 ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การจัดซื้ออุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ และฮาร์ดแวร์ การจัดซื้อซอฟท์แวร์ การจัดซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น ราว 258,311 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.53% ของมูลค่า GDP ของประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรม ข้อมูลข่าวสาร ยังมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาคิดเป็นกว่า 12,721 ล้านบาท เช่นกัน หรือ 0.078% ของมูลค่า GDP ประเทศ ส่วนการลงทุนของธุรกิจเงินร่วมลงทุน พบว่า มีการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น ภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ราว 2,229 ล้านบาท ในปี 61 หรือคิดเป็น 0.014% ของมูลค่า GDP ประเทศ

ส่วนมิติที่ 4 อาชีพ (Jobs) เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะด้านดิจิทัลสูงขึ้น โดยในปี 62 ประเทศไทยมีผู้ทำงานในตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านดิจิทัล ราว 1.3 ล้านคน คิดเป็น 3.5% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ

ทั้งนี้ หากประเมินแรงงานทั้งหมดที่อยู่ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัลประเทศไทยมีแรงงานที่อยู่ในภาคส่วนดังกล่าวกว่า 12.9 ล้านคน คิดเป็น 34.6% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ

นอกจากนี้ ในปี 62 พบว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาสาขา STEM มากถึง 76,478 คน ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานส่วนสำคัญอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจดิจิทัลของประเทศ

จากผลการสำรวจพบว่า ราว 1 ใน 4 ของบริษัท ผู้ตอบมีการจ้างพนักงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านดิจิทัลเข้ามาทำงานในบริษัท โดยสัดส่วนของพนักงานดังกล่าวต่อพนักงานทั้งหมดอยู่ที่เฉลี่ยบริษัทละ 3.6 คนใน 100 คน และแตกต่างกันไปตามขนาดของบริษัท นอกจากนี้ ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทและภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญกับพนักงานและจัดอบรมพนักงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านดิจิทัล

มิติที่ 5 สังคม (Society) การพัฒนาของเทคโนโลยียังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ดีก็มิได้หมายความว่าจะมีแต่ผลดีต่อสังคมเพียงด้านเดียว จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนผู้สูงอายุ (ช่วงอายุ 55-74 ปี) ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต 67.4% ขณะที่สัดส่วนเด็กนักเรียนไทยที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 90.0%

ทั้งนี้ ในด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการทำงาน พบว่า 17.4% ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการทำงานทางไกล เช่น การประชุมผ่านทางไกล การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เป็นต้น

จากการประเมินทักษะการอ่าน การคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์และเชิงวิทยาศาสตร์ (PISA Test) พบว่า เด็กนักเรียนไทยส่วนใหญ่ในช่วงอายุ 15-16 ปี ยังมีระดับทักษะด้านดังกล่าวระดับ ปานกลางถึงต่ำ แม้ว่าจะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตในสัดส่วนที่สูงก็ตาม ทั้งนี้หากเปรียบเทียบผู้ที่มีทักษะด้านดิจิทัลจะพบว่า ผู้ตอบผู้ชายยังเป็นกลุ่มที่มีทักษะด้านดิจิทัลสูงกว่าผู้ตอบผู้หญิง ในบางด้าน เช่น การปรับเปลี่ยนค่าติดตั้งของซอฟต์แวร์หรือเว็บบราวเซอร์ การติดตั้งโปรแกรมต่างๆ การเขียนโปรแกรม เป็นต้น

การใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ในปัจจุบัน พบว่าผู้ตอบกว่า 21.9% มีการสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์และอัปโหลดขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิงเพื่อเผยแพร่เนื้อหาสาระ หรือเพื่อหารายได้พิเศษ

อย่างไรก็ดี พบว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตในเรื่องของอบายมุขก็ยังมีอยู่ในสัดส่วนที่มาก โดยในปี 62 พบว่ามีคนไทยมากกว่า 8 แสนรายที่เล่นการพนันออนไลน์ และนำไปสู่ปัญหาหนี้สินจากการพนันตามมา มากกว่า 1.07 ล้านคน นอกจากนี้ การพัฒนาด้านเทคโนโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศอีกด้วย โดยในปี 62 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศมีมากถึง 621 กิโลตันต่อปี หรือคิดเป็น 9.2 กิโลกรัมต่อคน มิติที่ 6 ความน่าเชื่อถือ (Trust) ปัญหาและภัยคุกคามทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สะท้อนให้เห็นความไม่ปลอดภัยทางสารสนเทศที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศ จากการสำรวจพบว่า 62.3% ไม่สนใจซื้อผ่านช่องทางออนไลน์หรือชอบไปซื้อที่ร้านค้ามากกว่า นอกจากนี้ยังอาจกังวลในเรื่องของคุณภาพ ความน่าเชื่อถือของร้านค้า และขาดความรู้ในการเลือกซื้อสินค้า บริการผ่านออนไลน์

คนไทยที่เป็นบุคคลทั่วไปราว 29.8% ประสบปัญหาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อุปกรณ์ติดไวรัส/โทรจัน/มัลแวร์ หรือถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ขณะที่ภาคธุรกิจมีราว 13.6% ประสบปัญหาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในการรับมือกับภัยคุกคามทางดิจิทัลดังกล่าว คนไทยที่ประสบปัญหาราว 69.0% แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส หรือหยุดการแชร์ข้อมูลส่วนตัว ขณะที่บริษัทต่างๆที่ประสบปัญหาราว 69.7% มีการรักษาความปลอดภัยฯของบริษัท เช่น การติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส การติดตั้งระบบคัดกรองสแปน ฯลฯ

มิติที่ 7 การเปิดเสรีของตลาด (Market Openness) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้การจัดจำหน่ายและซื้อสินค้าบริการผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยร้อยละ 21.6 ของผู้ประกอบการออนไลน์ มีการส่งออกสินค้าไทยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ และสินค้าอะไหล่ยานยนต์

ส่วนในด้านการนำเข้า ประเทศไทยมีการนำเข้าบริการดิจิทัลในสัดส่วนที่สูงกว่าการส่งออกถึงเกือบ 9 เท่า โดยเฉพาะบริการโทรคมนาคม บริการดิจิทัล บริการด้านประกันภัยและการเงินรวมถึงบริการทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ในตลาดต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 20.8 ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในประเทศ ซึ่งประเทศที่ไทยมีการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา สปป.ลาว ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

มิติที่ 8 การเติบโต และสภาพความเป็นอยู่ (Growth & Well-being) เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความสะดวกสบายและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผุ้ใช้งาน หากแต่ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 58-62 มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมูลค่าเพิ่มดังกล่าว เป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าเพิ่มในกิจกรรมและกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น บริการทางการเงิน บริการโทรคมนาคม และกิจกรรม และกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีในระดับปานกลางค่อนข้างสูง เช่น การขายส่งและขายปลีก การจัดพิมพ์หรือเผยแพร่ อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอาจมีความไม่สบายใจหรือเกิดความเครียดจากการใช้งานเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ด้านดิจิทัล

และ จากการสำรวจพบว่า คนไทยกว่า 76.1% มีความรู้สึกไม่สบายใจจากการไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ต้องใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน/ชีวิตการทำงาน นอกจากนี้ ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ในการทำงานเป็นระยะเวลานาน คนไทยกว่า 55.7% เกิดความเครียดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนช่วงอายุ 0-19 ปี