MOVEMENT NEWS

กสอ. ผนึกกำลัง บริษัท เด็นโซ่ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น
POSTED ON 10/04/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เดินหน้ายกระดับเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน Lean Automation อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัด "พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ(Memorandum of Understanding: MOU) ในการพัฒนาโครงการสาธิตระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation System Integrators: LASI Project)" ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม

สู่ยุค 4.0 โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน Lean Automation ให้เป็นที่เข้าใจแก่บุคลากรภายในสถานประกอบการ และ มีการพัฒนา System Integrator หรือ SI (ผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบและติดตั้ง ระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรม) ให้สามารถนำไปประยุกต์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสถานประกอบการอย่างสูงสุด

"จากการที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวน SI ให้เป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2561 - 2565) นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีการดำเนินการพัฒนา System Integratorและมีการเตรียมความพร้อม ให้กับบุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยการเพิ่มทักษะและการสร้างความตระหนักในการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไปแล้วกว่า 350 ราย โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในการพัฒนาโครงการสาธิตระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation System Integrators: LASI Project) ซึ่งเป็น 1 ใน กิจกรรม 3-Stage Rocket Approach ของขั้นที่ 3 Lean Automation System Integrator : หรือ LASI Project (จรวดขั้นที่ 3) โดยมีเป้าหมายในการร่วมมือกัน เพื่อสานต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้าน Lean Automation ให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะดำเนินการพัฒนา System Integrator อย่าต่อเนื่อง และมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในภาค

อุตสาหกรรมด้วยการเพิ่มทักษะ พร้อมทั้งฝึกอบรมให้กับบุคลากรที่จะเป็นวิทยากรต่อไป (Master Trainer) เพื่อรองรับแผนในการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ และนอกจากแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเฉพาะ SI และผู้ผลิตระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการกระตุ้นให้ทุก ๆ ภาคส่วน เห็นความสำคัญและเข้าใจว่า ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มีส่วนเข้ามาเสริมศักยภาพและสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรม และเมื่อมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นกลุ่มอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

นอกจากนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องให้การสนับสนุนและสร้างเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมเฉพาะของคนไทยให้ได้ ดังนั้น การดึงหน่วยร่วมดำเนินงานทุกภาคส่วนมาช่วยกันขับเคลื่อนจะก่อให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวทางประชารัฐ"นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2562 นี้ กสอ. ได้เตรียมแผนที่ขยายผลการดำเนินการจาก 3 Stage Rocket Approach ในขั้นที่ 1 และ 2 ไปสู่จรวดขั้นที่ 3 อีกไม่น้อยกว่า 100 กิจการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทย เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 45 และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 30 นายกอบชัย กล่าว

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ทาง บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) จะเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนการฝึกอบรมหลักสูตร Lean Automation for Industry ซึ่งครอบคลุมผู้ที่เป็น SI ในทุกกลุ่มสาขา รวมทั้งผู้ที่จะต้องพัฒนาร่วมกับสถาบันเครือข่ายในการเป็น Master Trainer ตลอดจนแนวทางการพัฒนาโครงการสาธิตระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation System Integrators: LASI Project) ในปี 2562 นี้ โดยจะเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับการพัฒนา SI ทั้งที่เป็นแบบอิสระ (External SI) และแบบที่ประจำในโรงงานอุตสาหกรรม (Internal SI) และปรับปรุงหลักสูตรการสอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาเอสเอ็มอีไปสู่เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต