MOVEMENT NEWS

7 สมาคมเหล็กยื่นหนังสือขอขยายเวลามาตรการ Safeguard เน้นซื้อในประเทศ
POSTED ON 05/02/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics, Economic

7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้เข้ายื่นหนังสือนายกรัฐมนตรี ขอให้ดำเนินการช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย โดยกำหนดให้มีการบังคับใช้มาตรการ Surcharge สำหรับสินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยด์ หรือ สนับสนุนการบังคับใช้มาตรการ Safeguard (SG) ที่กำกับดูแลโดยกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งการเปิดไต่สวนและเร่งใช้มาตรการ SG สำหรับสินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีจุ่มร้อน พิจารณาต่ออายุมาตรการ SG สำหรับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยด์ ซึ่งกำลังจะหมดอายุในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 และคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) ต้องพิจารณาวินิจฉัยขั้นที่สุดในเร็ววัน

 

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่า ขณะนี้จากสถานการณ์สงครามทางการค้าในสินค้าเหล็กที่เริ่มโดยสหรัฐอเมริกาที่ต้องการปกป้องและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมในประเทศของตน โดยบังคับใช้มาตรการ Section 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act, 1962 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้มีการใช้อัตรากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐอเมริกาให้ถึง 80% (อุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณ 33%) ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศเพิ่มขึ้นในระยะหลัง

 

โดยสหภาพยุโรปกำหนดมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (SG) สินค้าเหล็ก 28 ประเภท, ประเทศตุรกีกำหนดมาตรการ SG สินค้าเหล็ก 10 ประเภท, สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย) ได้เปิดการไต่สวนพิเศษเกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนเข้ามาในประเทศสมาชิก เพื่อตรวจสอบว่าอุตสาหกรรมในประเทศต้องการการป้องกันในเรื่องปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และจากการเปลี่ยนเส้นทางเหล็กจากสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และตุรกี หรือไม่, ประเทศแคนาดากำหนดมาตรการ SG สินค้าเหล็ก 6 ประเภท และประเทศเม็กซิโกต่ออายุการเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับสินค้าเหล็กจำนวน 186 รายการจากประเทศที่ไม่มี FTA กับเม็กซิโก

 

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าประเทศต่างๆทั่วโลกตระหนักดีว่าเป็นสินค้าเหล็กเป็นสินค้าที่กระทบถึงความมั่นคงของชาติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้สินค้าที่ไม่สามารถส่งเข้าไปยังประเทศดังกล่าวได้ก็จะเปลี่ยนเป้าหมายไปสู่ประเทศที่ไม่มีมาตรการทางการค้า โดยขณะนี้สินค้าเหล็กของไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามทางการค้าเนื่องจากไม่มีมาตรการทางการค้า ประกอบด้วย สินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการตอบโต้การทุ่มตลาดและอุดหนุนได้มีมติยุติการไต่สวนการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก GI ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่งผลให้ที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันผู้ผลิตบางรายไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ จนเริ่มมีการปลดพนักงานกว่า 700 คนแล้ว และขณะนี้ผู้ลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทก็กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอให้มาตรการ SG ซึ่งหากไม่มีการบังคับใช้มาตรการใดๆเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมผู้ผลิตในประเทศจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กในอนาคตด้วย เนื่องจากไม่มีความมั่นใจในนโยบายการคุ้มครองนักลงทุนของภาครัฐ

 

สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยด์ที่เดิมมีการบังคับใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนปรับตัว และ ตาม มาตรา 36 ของ พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 ให้สามารถต่ออายุมาตรการได้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมในประเทศขณะดำเนินการปรับตัว โดยข้อกฎหมายบัญญัติไว้ว่า "เมื่อคณะกรรมการเห็นสมควร หรือเมื่อมีคำร้องขอภายในระยะเวลาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนดจากผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันหรืออุตสาหกรรมภายในว่ามีความจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องต่อไปอีก เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย โดยมีหลักฐานแสดงว่าอุตสาหกรรมภายในอยู่ระหว่างการปรับตัว ให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องต่อไปอีกได้ตามที่จำเป็น" ซึ่งในการขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ SG ในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นไปตามข้อบัญญัตินี้เพื่อป้องกันความเสียหายตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเช่นกัน แต่ในการพิจารณาขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ SG ครั้งที่ 2 คณะกรรมการฯ กลับมีมติให้ยุติมาตรการด้วยเหตุผลว่า อุตสาหกรรมภายในประเทศไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและหลักการในการขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการครั้งที่ 1 อย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้กรณีที่คณะกรรมการฯ กังวลต่อการถูกตอบโต้จากการบังคับใช้มาตรการ Safeguard โดยยกตัวอย่างกรณีตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศจากไทยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตุรกีดำเนินการผิดข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) โดยไทยได้ดำเนินการฟ้อง WTO แล้ว โดยประเทศตุรกีถือว่ามิได้เป็นผู้ได้ผลกระทบจากมาตรการปกป้องจึงไม่มีสิทธิ์ในการตอบโต้โดยการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศ ขัดต่อข้อตกลงว่าด้วยเรื่องมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) Article 8.2 และ 12.3 และข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT 1994) Article XIX: 3 และ XIX: 2

 

การขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศตุรกีมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าที่ตุรกีได้รับผลกระทบ ขัดต่อข้อตกลงว่าด้วยเรื่องมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) Article 8.2 และข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT 1994) Article XIX: 3

 

ประเทศตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศเฉพาะจากไทย ขัดต่อข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT 1994) Article I: 1 GATT 1994

 

ประเทศตุรกีมิได้รับรองว่าสินค้าเครื่องปรับอากาศจากประเทศไทยได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรปกติ รวมถึงภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ทุกประเภทที่กำหนดสำหรับหรือเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเครื่องปรับอากาศ ขัดต่อข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT 1994) Article II.1 (a) และ (b)

 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตในประเทศยินดีให้การชดเชยให้กับประเทศที่มีการร้องขอหากเป็นไปตามกฎหมายไทย และข้อตกลง WTO ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการตอบโต้จากประเทศต่างๆจึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน