MOVEMENT NEWS

บิ๊กดาต้า - เอไอ มาแรงทั่วโลก กูรูชี้ เกือบ 80% ในไทยยังไม่มี
POSTED ON 23/09/2561


กูรูหลายท่านเปิดประเด็นบิ๊กดาต้า ในงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ย้ำชัดไทยยังล้าหลัง ขาดแผนรองรับ ต้องปรับนโยบายองค์กรให้ไปในทิศทางเดียวกัน

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์จุลภาคประยุกต์ และซีอีโอบริษัท Siametrics Consulting กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องบิ๊กดาต้า เราจะเห็นภาพของคอนเซ็ปต์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่การนำไปใช้งานผ่านแอพลิเคชั่นและการบริการยังมีช่องว่างอยู่มาก จึงต้องอาศัยการวางกลยุทธ์ ทั้งนี้ หากเราลองมาดูมูลค่าการซื้อขายของบริษัทชั้นนำของโลก 7 อันดับ มีมูลค่ามากกว่าจีดีพี ของประเทศไทยถึง 11 เท่า สาเหตุก็เพราะว่าบริษัทเหล่านั้นมีการใช้งานบิ๊กดาต้ามานานแล้ว และสร้างประโยชน์จากบิ๊กดาต้าได้อย่างมหาศาล

ดร.ณภัทร กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคทองของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ จากผลสำรวจพบว่า 72% เทคโนโลยีเอไอ และบิ๊กดาต้าจะมาใน 5 ปี แต่ 77% ยังไม่มีแผนรองรับ เนื่องจากบิ๊กตาต้ามีความสลับซับซ้อน ต้องรวบรวมข้อมูลทุกอย่างในยุค 4.0 ข้อมูลไม่มีวันดีที่สุดและดีเสมอไป มีค่าใช้จ่ายสูงในการตรวจสอบความถูกต้อง ข้อมูลผิดได้ง่าย มีเรื่องกฏหมายและจริยธรรมมาเกี่ยวข้อง การที่จะเป็นเทศไทยจะเริ่มต้น ต้องเริ่มจากข้อมูลที่เรียบง่ายและเกี่ยวข้องกัน ต้องคิดถึงผลแห่งความสำเร็จ ผู้บริหารต้องมีความเห็นตรงกัน ว่าทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญ การจัดการข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ ช่วยให้การทำงานดีขึ้น อย่าให้นโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ มาเป็นอุปสรรค

นายอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร บริษัทเดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า เราคาดการณ์ว่าในปี 2025 จะมีอุปกรณ์ IoT เกิดขึ้นมากว่า 1ล้านล้านชิ้น เราจะมี วีอาร์ และเออาร์ เป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกทางกายภาพและโลกดิจิทัลให้กันมากขึ้น เช่น วีดีโอ 360° โฮโลแกรม แว่นตาเสมือนจริง ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ได้อีกหลายด้าน เราจะมีหุ่นยนต์ เป็นผลรวมของเทคโนโลยีที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์จำนวนมาก การใช้เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ และ เอ็มแอล เหรือการเรียนรู้ของเครื่อง เข้ามาร่วมกันพัฒนาให้ก้าวกระโดดไปอย่างมาก อย่างไรก็ตามมักมีคำถามว่าอนาคตหุ่นยนต์จะมาแทนที่คนได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า หุ่นยนต์เหมาะการทำงานแบบซ้ำ ๆ งานละเอียดและงานเสี่ยงภัย ส่วนงานที่ต้องใช้อารมณ์ และการตัดสินใจที่เป็นเรื่องใหญ่ ยังต้องใช้มนุษย์

นายธีร์ ฉายากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัททราเวลโลกา กล่าวว่า การทำธุรกิจของทราเวลโลกา ถือกำเนิดจากจุดเริ่มต้นของการสังเกตและวิเคราะห์ปัญหาของการท่องเที่ยว ซึ่งในอดีตในการท่องเที่ยวนั้น จะมีความยุ่งยากในการหาข้อมูลในแต่ละครั้งของการเดินทาง เช่น การจองห้องพัก การจองตั๋วเครื่องบิน ในแต่ละครั้ง ต้องมีค้นคว้าหาข้อมูลและเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ เว็บไซต์ของแต่ละแหล่งเพื่อหาข้อมูลราคาและคุณภาพที่ตรงกับความต้องการ จากจุดนั้นบริษัทฯ จึงได้แนวคิดในการทำธุรกิจจากการต้องการแก้ไขปัญหาสำหรับลูกค้าเพื่อให้ข้อมูลการท่องเที่ยวมารวมอยู่ในแหล่งเดียวกันโดยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งสิ่งสำคัญในดำเนินธุรกิจนี้คือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลบิ๊กดาต้า ทำให้บริษัทฯได้เติบโตอย่างรวดเร็วและได้เริ่มขยายฐานข้อมูลจากจุดเริ่มในอินโดนีเซีย และขยายครอบคลุมไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น

นายธีร์ กล่าวว่า บริษัททราเวลโลกา เป็นผู้นำด้านโมบาย เว็บ ของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและสายการบิน โดยสถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ในระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2018 กว่า 5 ล้านคน โดยทราฟฟิค แชร์ ของบริษัทร้อยละ 51.2 มาจากการให้บริการผ่านมือถือ และร้อยละ 48.8 จากผู้ใช้บริการผ่านทางเดสก์ท็อป โดยบริษัทคาดว่าดิจิทัล อีโคโนมี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการเติบขึ้นร้อยละ 15 ภายใน 10 ปี มูลค่ารวมกว่า 197 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในธุรกิจท่องเที่ยวผ่านบริการออนไลน์คาดว่า จะมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 38 หรือ 77 พันล้านเหรียญสหรัฐของอุตสาหกรรมโดยรวมของดิจิทัล อีโคโนมี ทั้งหมด สำหรับตลาดในประเทศไทยนั้น บริษัทฯ คาดการณ์ว่าในระหว่างปี 2015 จนถึงปี 2025 ธุรกิจท่องเที่ยวผ่านบริการออนไลน์จะเติบโตถึง 5 เท่า จากมูลค่า 3.9 พันล้าน เป็น 19.8 พันล้าน ซึ่งจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทได้นำบิ๊กดาต้ามาใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อธุรกิจ รวมถึงการบริหารงานรูปแบบอื่น ๆ ให้กับลูกค้า เช่นการท่องเที่ยวก่อนจ่าย ดูแลลูกค้ายามเกิดเหตุภัยพิบัติโดยการเตือนภัย เป็นต้น

ด้าน ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Accenture Thailand จำกัด กล่าวว่า คำว่า อุตสาหกรรม 4.0 เริ่มต้นที่ประเทศเยอรมัน โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเป็นผลทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้รับจากอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการนำเซนเซอร์ไปติดตั้ง ซึ่งหากมีการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เพื่อวิเคราะห์จะได้ข้อมูลในเชิงลึก ที่มีความละเอียดและแม่นยำถูกต้องสูง ซึ่งการมีข้อมูลในเชิงลึก ที่มีความถูกต้องและแม่นยำนั้น โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะมีการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลจะสามารถช่วยธุรกิจในการนำไปใช้ในการสร้างและพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ