MOVEMENT NEWS

สมอ. จับมือ ส.อ.ท. เร่งผลักดันมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรม
POSTED ON 23/09/2559


 

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่อง “ความร่วมมือด้านการมาตรฐานระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” พร้อมเดินหน้าส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพ พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นไปตามแนวทางสากล

 

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.มีฐานะเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่ประสานความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) โดยมีภารกิจหลักในการกำหนดมาตรฐาน และให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้น ด้วยการอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในทางการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมด้านการมาตรฐานมีความหลากหลายและมีขอบข่ายกว้าง จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมาก ซึ่งแต่ละหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ดังนั้น การพัฒนาระบบมาตรฐานของประเทศไทย จึงพิจารณาถึงความจำเป็นและความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดระบบให้เหมาะสมกับความจำเป็นของประเทศ  

 

โดยแนวทางในการพัฒนาระบบมาตรฐานของประเทศไทยที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบรับรอง และมาตรวิทยา ด้วยการสร้างเครือข่าย

 

ที่ผ่านมา สมอ.ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 34 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันอาหาร สมาคมวิชาชีพ หน่วยงานราชการ รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

 

อย่างไรก็ตาม การลงนามครั้งนี้นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ สมอ. จะร่วมมือด้านการมาตรฐานกับ ส.อ.ท.อย่างเต็มที่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง และมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันได้ในระดับสากล ตลอดจนสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในประเทศ ให้มีความปลอดภัยพร้อมไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ

 

ขณะที่บทบาทและหน้าที่ของ สมอ.ในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คือ

 

กิจกรรมการกำหนดมาตรฐาน : สมอ.จะให้ความร่วมมือในการส่งเจ้าหน้าที่ของ สมอ. เข้าร่วมเป็นกรรมการในการจัดทำร่างมาตรฐานของ ส.อ.ท. และส่งเสริมให้ ส.อ.ท. จัดทำร่างมาตรฐาน เพื่อดำเนินการจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมถึงให้ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการการกำหนดมาตรฐานของ สมอ.

 

กิจกรรมการตรวจสอบและรับรอง : สมอ.จะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ ส.อ.ท. มีการจัดระบบการตรวจสอบและรับรองให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. ให้มีความรู้ความสามารถในกระบวนการตรวจสอบและรับรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางสากล

 

กิจกรรมการมาตรฐานระหว่างประเทศ : สมอ.จะให้ความร่วมมือในการส่งเสริม ส.อ.ท. ให้มีบทบาทในการเข้าร่วมกิจกรรมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศและพิจารณาให้ข้อคิดเห็นเอกสารมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยจะมอบหมายเจ้าหน้าที่ของ สมอ. ช่วยประสานให้การดำเนินงานกับองค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

 

กิจกรรมการส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาระบบการมาตรฐาน : สมอ.จะให้ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนให้ ส.อ.ท. ร่วมเป็นศูนย์ประสานงาน เพื่อเผยแพร่มาตรฐาน กฎระเบียบทางวิชาการและกิจกรรม และโครงการด้านการมาตรฐานให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. ให้มีความเข้าใจในกิจกรรมด้านการมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากิจกรรมด้านการมาตรฐานร่วมกับ สมอ. และจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในด้านการมาตรฐานในสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงฐานข้อมูลมาตรฐานแก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการบริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่อไป

 

ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานระบบการจัดการ และมาตรฐานระบบการบริหารงานคุณภาพ (ISO) เป็นต้น ซึ่งการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับการใช้งาน

 

เมื่อมีผลิตภัณฑ์ในประเทศที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ย่อมส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศให้การยอมรับเชื่อถือ และมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ของไทยตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่นอกจากจะทำให้สินค้าไทย มีคุณภาพในตลาดโลกแล้ว ยังสามารถใช้เป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้าและบริการที่ไม่ได้รับมาตรฐานที่เข้ามาตีตลาดในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม

 

ในหลายประเทศมีการนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์มาควบคุมสินค้านำเข้าในผลิตภัณฑ์หลายประเภท ส่งผลให้งานมาตรฐานเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) อย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตมีความจำเป็นที่จะต้องขอใช้เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตเอง และเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค โดยใช้หลักฐานของทางราชการเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของตนเองนั้นมีคุณภาพและมีราคาที่เหมาะสม

 

ส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีมาตรฐานมาโดยตลอด ผ่านการเร่งผลักดัน พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานสินค้า ผ่านการขับเคลื่อนการสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ตลอดจนเป็นแกนนำร่วมกับภาคเอกชน มุ่งเน้นให้มีการกำหนดมาตรฐานและสร้างมาตรฐานสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค

 

นอกจากนี้ มาตรฐานในการผลิตสินค้าถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity Improvement) และลดความสูญเปล่าจากกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าที่จะนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Industry 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ (Infrastructures) ส่งเสริมพัฒนาการให้บริการอุตสาหกรรม (Supply Side) แหล่งสนับสนุนเงินทุนแก่ SMEs (Funding) และการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าถึงระบบ Automation และ ICT (Demand Side)

 

ภายใต้ความร่วมมือด้านการมาตรฐานดังกล่าว ส.อ.ท.จะมีบทบาทและหน้าที่ ดังนี้  

 

การกำหนดมาตรฐาน ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำร่างมาตรฐาน โดยมีเจ้าหน้าที่ของ สมอ. ร่วมเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของ ส.อ.ท. เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งจะให้ความร่วมมือในการจัดทำร่างมาตรฐานให้ สมอ. เพื่อดำเนินการจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และจะมอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการจัดทำร่างมาตรฐานเข้าร่วมประชุมชี้แจงในคณะกรรมการพิจารณาร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของ สมอ. เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

 

กิจกรรมการตรวจสอบและรับรอง : ส.อ.ท. จะดำเนินการจัดทำระบบการตรวจสอบและรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. ให้มีความรู้ความสามารถในกระบวนการตรวจสอบและรับรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางสากล

 

กิจกรรมการมาตรฐานระหว่างประเทศ : ส.อ.ท.จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อคิดเห็นเอกสารมาตรฐานระหว่างประเทศ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ประสานงานและแจ้งข้อคิดเห็นให้กับ สมอ.

 

กิจกรรมการส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาระบบการมาตรฐาน : ส.อ.ท.จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนส่งเสริมการเผยแพร่และพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นเอกภาพ โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม และโครงการด้านการมาตรฐาน รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการเข้าร่วมดำเนินภารกิจด้านการมาตรฐานร่วมกับ สมอ. โดย ส.อ.ท. จะให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ ส.อ.ท. เชี่ยวชาญให้กับกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มผู้ปฏิบัติการ และกลุ่มผู้ตรวจสอบ/ตรวจประเมินของ สมอ. และจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในด้านการมาตรฐานในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงฐานข้อมูลมาตรฐานแก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดบริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอีกด้วย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics