MOVEMENT NEWS

ส.อ.ท. จับมือ มสธ. ผลิตบุคลากรด้านอาชีวอนามัยป้อนอุตฯเพิ่ม
POSTED ON 15/03/2559


เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การผลิตบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อภาคอุตสาหกรรม” ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรด้านอาชีวอนามัย ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนการดำเนินนโยบายภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดในการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 ได้เน้นการจัดองค์กรด้านความปลอดภัยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีการกำหนดในเรื่องเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย คณะกรรมการความปลอดภัยฯ และหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย รวมถึงแนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานนั้น กฎกระทรวงได้มีการกำหนดคุณสมบัติไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ สถานประกอบกิจการที่มีการจ้างงาน 100 คนขึ้นไป จะต้องมีการจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือ จป.ระดับวิชาชีพ และต้องมีคุณสมบัติ คือ

 

(1)  สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า

 

(2)  สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดจากหน่วยงานที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับรอง

 

(3)  เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มี.ค.2540 และผ่านการอบรมเพิ่มและทดสอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดจากหน่วยงานที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับรองในหลักสูตรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 18 (3) (4) และ (8) ทั้งนี้ ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ (นับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา 21 มิ.ย.2549 ถึงวันที่ 20 มิ.ย.2554)

 

นอกจากนี้ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 ต่อ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ดังนี้

 

(1)  เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ ที่อบรมผ่านการอบรม 192 ชั่วโมง จะต้องเข้ารับการอบรม หลักสูตร เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ จำนวน 42 ชั่วโมง และเข้ารับการทดสอบภายในวันที่ 20 มิ.ย.2554

 

(2)  ภายหลังจากวันที่ 20 มิ.ย.2554 ผู้ที่จะเป็น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพได้ ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า เท่านั้น ไม่สามารถใช้การอบรมเพิ่มและทดสอบตามหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพได้อีกต่อไป

 

ขณะที่ทางด้านสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมก็เห็นถึงความสำคัญของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือ จป.ระดับวิชาชีพ มากขึ้น โดยเฉพาะ จป.ระดับวิชาชีพ ที่จบการศึกษาระดับ ปวส. สาขาช่างอุตสาหกรรม และเข้าศึกษาต่อเพิ่มเติมในระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแล้ว ยังมีความรู้ที่ครอบคลุมในสายการช่าง ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจงาน และตอบโจทย์การทำงานให้กับภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้นด้วย

 

“ความร่วมมือภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การผลิตบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อภาคอุตสาหกรรม” ระหว่าง ส.อ.ท. และ มสธ. ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งถือเป็นการพัฒนาพนักงานหรือบุคลากรขององค์กรที่จบการศึกษาระดับ ปวส. สาขาช่างอุตสาหกรรม เข้าศึกษาต่อเพิ่มเติมในระดับปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพได้ และยิ่งหากได้รับความร่วมมือจากภาคการศึกษาที่จะเข้ามาเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริม ผลักดันการจัดการศึกษา เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการทั้งด้านปริมาณและคุณภาพแล้ว ก็ยิ่งทำให้การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เห็นภาพเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมต่อไป” นายสุพันธุ์ กล่าว

 

ปัจจุบัน มีสถานศึกษาเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จำนวน 33 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งปรากฏในข้อเท็จจริงว่า ยังมีสถานประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรมบางส่วนยังไม่สามารถหาคนมาทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพได้

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics